ค้นพบนักล่าแขนเล็กยุคก่อนประวัติศาสตร์

นับตั้งแต่การค้นพบไดโนเสาร์ไทแรนโนซอรัส เร็กซ์ หรือทีเร็กซ์ (Tyrannosaurus rex) ในปี พ.ศ.2445 ผู้คนก็สงสัยว่าทำไมสัตว์ตัวใหญ่ถึงมีแขนเล็กๆ แล้วมีประโยชน์หรือไม่ ซึ่งมีการนำเสนอมุมมองหลายอย่าง เช่น บางทีแขนอาจจะหดสั้นลง อันเป็นผลมาจากส่วนอื่นๆของร่างกายมีการปรับเปลี่ยน ล่าสุดทีมนักบรรพชีวินวิทยานานาชาติในอาร์เจนตินาเผยถึงการศึกษาไดโนเสาร์สายพันธุ์ขนาดมหึมาที่พบในปี พ.ศ.2555 ทางตอนเหนือของดินแดนปาตาโกเนีย ตรงปลายใต้สุดของทวีปอเมริกาใต้ ครอบคลุมพื้นที่ในอาร์เจนตินาและชิลี

ข่าวแนะนำ

ไดโนเสาร์ตัวนี้ชื่อว่า Meraxesgigas หนัก 4,082 กิโลกรัม ยาวประมาณ 10-12 เมตร เป็นชนิดกินเนื้อ เชื่อมีชีวิตเมื่อ 90 ล้านปีก่อนในยุคครีเตเชียส Meraxes gigas มีแขนสั้นและกะโหลกศีรษะใหญ่โตคล้ายทีเร็กซ์ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยมินเนโซตาในสหรัฐอเมริการะบุว่า กะโหลกศีรษะและแขนที่เล็กของ Meraxes gigas คือเบาะแสสำคัญเกี่ยวกับวิวัฒนาการของสัตว์นักล่ายุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะวิธีที่พวกมันล่าเหยื่อ และถึงแม้ Meraxes gigas จะเป็นสมาชิกของวงศ์คาร์ชาโรดอนโทซอรัส (Carcharodontosauridae) ซึ่งเป็นกลุ่มของไดโนเสาร์เธอโรพอดขนาดยักษ์ที่กินเนื้อเป็นอาหาร และจะมีลักษณะคล้ายกับทีเร็กซ์ แต่ทั้ง 2 ชนิดไม่มีความสัมพันธ์อันใกล้ชิด หมายความว่าพวกมันพัฒนาแขนเล็กๆ และกะโหลกศีรษะใหญ่โตแยกจากกัน

นักบรรพชีวินวิทยาเชื่อเมื่อเวลาผ่านไปบทบาทการล่าได้ถูกถ่ายโอนไปที่กะโหลกศีรษะ การที่กะโหลกศีรษะมีการปรับปรุงให้เหมาะสมทั้งแรงกัดและขนาด ทำให้แขนไดโนเสาร์หดสั้นลง แต่ไม่ได้หมายความว่ามือและแขนเล็กๆจะไร้ประโยชน์โดยสิ้นเชิง เพราะอาจมีหน้าที่อื่นๆในแง่ของการล่าสัตว์และการกินอาหาร.

Leave a Reply