ฟอสซิลชี้หนูอยู่คู่บ้านคนมานาน 15,000 ปี

วิจัย, ฟอสซิล, หนู, วิทยาศาสตร์
หนูบ้านพบได้ในเกือบทุกครัวเรือนทั่วโลก จนทำให้แมวกลายมาเป็นสัตว์เลี้ยงยอดนิยม

นักวิจัยฝรั่งเศสพบซากฟอสซิลหนูจากแหล่งโบราณคดีทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งเป็นหลักฐานชี้ว่าหนูเริ่มเข้ามาอาศัยอยู่ในบ้านเรือนของมนุษย์ตั้งแต่ 15,000 ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าสู่ยุคเกษตรกรรม

ดร. โทมัส คุชชี่ นักวิจัยจากพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งชาติฝรั่งเศส ตีพิมพ์เผยแพร่การค้นพบดังกล่าวลงในวารสาร PNAS โดยระบุว่าได้ศึกษาฟันจากซากฟอสซิลของหนู ที่พบในแหล่งโบราณคดีทางตอนใต้ของภูมิภาคเลอแวนท์ (Levant ) หรือทางตะวันออกของทะเลเมดิเตอร์เรเนียน ซึ่งปัจจุบันได้แก่ดินแดนอิสราเอล ปาเลสไตน์ อิรัก จอร์แดน เลบานอน ซีเรีย และบางส่วนของตุรกี พบว่ามีความเก่าแก่กว่าช่วงเวลาที่เคยคาดกันไว้แต่เดิมว่าหนูป่าเริ่มเข้ามาอาศัยในชุมชนมนุษย์ครั้งแรก

ในช่วงเวลา 15,000 ปีก่อนนั้น สังคมมนุษย์ยังไม่เข้าสู่ยุคเกษตรกรรม แต่เริ่มมีการสร้างบ้านเรือนอยู่เป็นหลักแหล่ง เช่นบ้านทรงกลมที่สร้างจากหินและโคลน รวมทั้งหาของป่าและล่าสัตว์จำพวกกวางและหมูป่ามาเลี้ยงชีพ โดยเชื่อว่ามีการหาธัญพืชป่า เช่นข้าวสาลีหรือข้าวบาร์เลย์มาเก็บสะสมไว้ในครัวเรือน จนเป็นแหล่งอาหารอย่างดีที่ดึงดูดหนูให้เข้ามากินและอาศัยอยู่ในบ้านคนซึ่งปลอดภัยจากสัตว์ผู้ล่าด้วย

ดร. เจเรมี เซิร์ล ผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลของสหรัฐฯ ซึ่งไม่ได้มีส่วนร่วมในการวิจัยดังกล่าวให้ความเห็นว่า การค้นพบครั้งนี้ช่วยให้ความกระจ่างเพิ่มเติมในเรื่องของพัฒนาการการอยู่ร่วมกันระหว่างคนและหนูบ้าน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นขึ้นเมื่อมนุษย์เริ่มการเพาะปลูกเพื่อเลี้ยงชีพอย่างที่เข้าใจกันมา แต่ความสัมพันธ์ดังกล่าวเริ่มขึ้นก่อนหน้านั้น และก่อนที่จะถึงยุคซึ่งมนุษย์เริ่มนำสุนัขและแมวเข้ามาเป็นสัตว์เลี้ยงประจำครัวเรือนเสียอีก

อย่างไรก็ตาม หลังยุคดังกล่าวหนูได้แพร่พันธุ์ไปอาศัยอยู่ในชุมชนมนุษย์ทั่วทุกมุมโลก โดยถือเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่แพร่พันธุ์รุกรานเข้าไปยังถิ่นต่าง ๆ มากที่สุดชนิดหนึ่ง แต่ในปัจจุบันก็มีผู้เลี้ยงหนูพันธุ์ที่สวยงามน่ารักเป็นสัตว์เลี้ยง และหนูบางสายพันธุ์ถูกนำมาใช้ในการทดลองทางวิทยาศาสตร์อย่างกว้างขวาง

Leave a Reply