เงินเฟ้อ : ไทยต้องขึ้นดอกเบี้ยเร็วและแรงแค่ไหน เพื่อสู้ของแพง-บาทอ่อน

แบงก์ชาติจะขึ้นอัตราดอกเบี้ยแค่ไหน

ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา นานาประเทศนำโดยสหรัฐอเมริกา เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเพื่อสู้กับปัญหาเงินเฟ้อ

ธนาคารกลางแห่งสหรัฐฯ หรือเฟด ซึ่งขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.75% สู่ระดับ 1.50-1.75% ถือเป็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยสูงสุดในคราวเดียวในรอบ 28 ปี นับแต่ปี 1994 ธนาคารกลางทั้งในอังกฤษและอินเดียต่างก็ปรับอัตราดอกเบี้ยตนเองขึ้นเช่นเดียวกัน

เฟดมีมุมมองต่อแนวโน้มดอกเบี้ยในระยะข้างหน้าว่า จะแตะระดับ 3.4% ในช่วงสิ้นปีนี้ ซึ่งบ่งชี้ว่าอาจมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้อีก 1.75% ในช่วงที่เหลือของปี โดยยังเหลือการประชุมอีก 4 ครั้งคือ ก.ค., ก.ย., พ.ย. และ ธ.ค. และคาดว่าอัตราดอกเบี้ยจะปรับตัวขึ้นไปที่ 3.8% ในสิ้นปี 2566 ก่อนที่จะชะลอตัวมาที่ระดับ 3.4% ในปี 2567

อย่างไรก็ดี อัตราเงินเฟ้อที่ยังทะยานขึ้น ทำให้เฟดส่งสัญญาณว่าจะขึ้นดอกเบี้ยถึง 1% ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน วันที่ 27-28 ก.ค.

เมื่อกลับมามองที่ฝั่งไทย แบงก์ชาติส่งสัญญาณออกมาว่าจะมีการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น และตลาดการเงินเองก็ตอบรับและเห็นด้วยกับการขยับครั้งนี้

ทว่าควรปรับขึ้นมากแค่ไหน รวมไปถึงผลกระทบที่จะตามมาต่อผู้คนแต่ละภาคส่วนของประเทศ เป็นเรื่องที่ยังไม่ชัดเจน

ปรับขึ้น แต่ขึ้นแค่ไหน

ดร.จิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์การลงทุน บลจ.ยูโอบี (ประเทศไทย) จำกัด บอกบีบีซีไทยว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ของไทย น่าจะปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายขึ้น 0.50% ในการประชุมวันที่ 10 ส.ค.ที่จะถึงนี้ เนื่องจำนวนการประชุมมีระยะห่าง “เวลาทำอะไรต้องมีนัยสำคัญ”

ดอกเบี้ยนโยบายของไทยอยู่ที่ 0.25% มาตั้งแต่ 20 พ.ค. 2563 โดยในปีนั้น กนง. มีมติลดดอกเบี้ยถึง 3 ครั้ง ๆ ละ 0.25% เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการควบคุมการระบาดของโควิด-19 และเพื่อให้สอดรับกับมาตรการด้านการคลัง การเงินและสินเชื่อของรัฐบาลที่ออกไปก่อนหน้านี้

ถัดจากการแถลงผลประชุมในวันที่ 10 ส.ค. นี้ กนง.จะมีประชุมและแถลงอีก 2 ครั้งในปีนี้ คือ 28 ก.ย. และ 30 พ.ย.

ดร.จิติพล อธิบายถึงสาเหตุสำคัญของการต้องขึ้นดอกเบี้ยว่า ปัญหาเงินเฟ้อของไทยในปัจจุบันเกิดขึ้นจากราคาพลังงานเป็นหลัก ยิ่งเมื่อไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมันและราคาสูงขึ้นถึง 100% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า จึงไม่แปลกที่ราคาสินค้าและบริการจะปรับตัวสูงขึ้นด้วย

เขาอธิบายว่าอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นเพราะต้นทุนเช่นนี้ ทำให้การปรับขึ้นดอกเบี้ยของแบงก์ชาติช่วยอะไรมากไม่ได้ เพราะ “ขึ้นไปน้ำมันก็ไม่ลง”

แต่สาเหตุที่แบงก์ชาติจำเป็นต้องขึ้นเพราะหากปล่อยให้ไปโดยไม่ทำอะไรเลย “ก็จะเกิดวิกฤตศรัทธาต่อแบงก์ชาติอีก”

ด้าน ดร.กำพล อดิเรกสมบัติ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่าย SCB Chief Investment Office ( SCB CIO) ธนาคารไทยพาณิชย์ ให้คำอธิบายที่มาของปัญหาเงินเฟ้อในมิติที่คล้ายคลึงกับ ดร.จิติพล โดยระบุว่า เศรษฐกิจของไทยและสหรัฐฯ มีความแตกต่างกัน ขณะที่เงินเฟ้อของสหรัฐฯ เกิดขึ้นเพราะมีอุปสงค์เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ประเทศไทยไม่ได้เป็นเช่นนั้น

“ถ้าสรุปเศรษฐกิจไทยสั้นๆ คือ ฟื้นช้า ฟื้นแล้ว ฟื้นแบบค่อยเป็นค่อยไป”

ทว่าเศรษฐกิจของไทยมีมุม “ฟื้นไม่ทั่วถึง” ซ่อนเอาไว้อยู่ ดร.กำพล ชี้ว่า หากไปดูรายได้ของเกษตรกรจะพบว่าเมื่อหักอัตราเงินเฟ้อออกแล้วยังกลับขึ้นมาอยู่ในระดับดีที่สุดในรอบ 4-5 ปี โดยได้ปัจจัยสนับสนุนจากราคาสินค้าเกษตรและปริมาณผลผลิตที่ปรับตัวดีขึ้นพร้อมกัน

ในทางตรงกันข้าม ค่าจ้างของแรงงานนอกภาคเกษตรกรรมกลับโตเพียง 1% – 2% ซึ่งเป็นระดับที่น้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อ

หากมองในเชิงภาพใหญ่ ก็จะพบว่าแม้ประเทศจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นจากการฉีดวัคซีนและการเปิดประเทศ แต่ไทยยังห่างไกลกับจุดยืนทางเศรษฐกิจยุคก่อนโควิดของเรา

“ปีนี้เราพูดกันว่าตัวเลขนักท่องเที่ยวประมาณ 6 ล้านคน ก่อนโควิด เราได้ปีละ 40 ล้านคน”

ดร.กำพล ชี้ว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเช่นนี้เป็นเงื่อนไขสำคัญที่แบงก์ชาติต้องพิจารณา เพราะหากปรับดอกเบี้ยขึ้นเร็วและแรงภายในรวดเดียว จะส่งผลกระทบถึงประชาชนอย่างแน่นอน

“การขึ้นดอกเบี้ยคือต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น กระทบครัวเรือน บริษัทห้างร้าน อยู่แล้ว มันต้องแลกมาด้วยตรงนี้”

ถามว่าแล้วถ้าไม่ขึ้นดอกเบี้ยจะเป็นอะไรหรือไม่ ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยกับบีบีซีไทยว่า หากปล่อยให้ช่องว่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยกับสหรัฐฯ ต่างกันเกินไป ประเทศก็อาจจะเจอภาวะเงินไหลออกซึ่งจะเข้าไปซ้ำเติมภาวะเงินบาทอ่อนค่าในปัจจุบัน

ด้าน ดร.กำพล แม้จะชี้ให้เห็นถึงต้นทุนที่ต้องแลกมากับการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย แต่ก็มองว่าในการประชุมนัดที่จะถึงนี้ อาจได้เห็นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในระดับ 0.25% และหากรวมกับการประชุมอีกสองครั้ง อาจได้เห็นตัวเลขรวมสิ้นปีเป็น 0.75% หรือจะหมายความว่าดอกเบี้ยนโยบายไปจบที่ระดับ 1.25%

line

กนง. คือ ใคร

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ แบงก์ชาติ มีหน้าที่รักษาเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศโดยใช้นโยบายการเงิน ซึ่งมีเครื่องมือที่สำคัญ คือ การกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบายผ่าน คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งประกอบด้วยผู้บริหารระดับสูงของ ธปท. 3 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก 4 คน ประชุมกันปีละ 8 ครั้ง เพื่อลงมติตัดสินระดับของอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่เหมาะสมกับภาวะและแนวโน้มของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ

ธปท. หรือแบงก์ชาติ อธิบายว่า หาก กนง. ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ

อัตราดอกเบี้ยในตลาดเงินและของธนาคารพาณิชย์จะปรับลดลงตาม ทั้งในส่วนของดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้

อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่ลดลงทำให้ผู้ประกอบการมีแรงจูงใจที่จะกู้ยืมเพื่อลงทุนมากขึ้น

อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ต่ำลงจะลดแรงจูงใจของประชาชนที่จะนำเงินมาฝากออมไว้กับธนาคาร และอาจนำเงินเหล่านั้นไปจับจ่ายใช้สอยแทน

ธปท. สรุปว่า “อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำลงจึงช่วยกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ตรงกันข้าม หากอัตราดอกเบี้ยนโยบายปรับสูงขึ้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจก็จะมีแนวโน้มชะลอลง”

line

ดอกเบี้ยขึ้น คนเป็นหนี้ลำบากขึ้น

ผู้เชี่ยวชาญที่คุยกับบีบีซีไทยต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่าเมื่อมีการขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย กลุ่มประชาชนที่มีหนี้สูงจะต้องแบกภาระมากขึ้น ยิ่งเมื่อสัดส่วนหนี้ครัวเรือนล่าสุดของประเทศไทยขยับขึ้นมาอยู่ที่ 90.1% ต่อจีดีพี หรือคิดเป็นมูลค่าหนี้ 14.3 ล้านล้านบาท นโยบายมหภาคนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับเงินในกระเป๋าประชาชนอย่างแน่นอน

ดร.จิติพล ยกตัวอย่างว่า หากคนทุกคนมีหนี้เท่ากันหมดตามตัวเลขจากหนี้ครัวเรือจน การขึ้นดอกเบี้ยนโยบายก็เหมือน “เราโดนภาษีขึ้นมา” ตามตัวเลขที่แบงก์ชาติจะขึ้น เนื่องจากธนาคารพาณิชย์มักปรับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ขึ้นในระดับเดียวกับดอกเบี้ยนโยบาย ด้วยเหตุนี้ “ใครก็ตามที่กู้เยอะๆ ถ้าซื้อบ้านสองหลัง มีหนี้ 200% – 300% ของจีดีพี อาจต้องขายสินทรัพย์ตัวเอง”

ดร.กำพล เสริมว่า สภาวะดังกล่าวจะให้ประชาชนมีอำนาจในการใช้จ่ายได้น้อยลง เพราะหนี้มีมูลค่าสูงขึ้น ขณะที่ค่าจ้างก็โตไม่ทันเงินเฟ้อ จนทำให้ประชาชนมีรายรับรวมน้อยลง สิ่งนี้ส่งผลกับภาคเอกชนในมิติที่คล้ายคลึงกัน คือมีต้นทุนในการผลิตสูงขึ้นยิ่งถ้าต้องไปกู้ยืมเงินมาเพื่อลงทุน ภาคการลงทุนเองก็อาจจะชะลอลงไปจากประเด็นดังกล่าว เพราะประเมินว่าได้ไม่คุ้มเสีย

ล่าสุด เมื่อ 11 ก.ค.ที่ผ่านมา นายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยอมรับในงานสัมมนาวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย สำนักงานภาคใต้ ประจำปี 2565 ว่าเงินเฟ้อได้ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนที่เปราะบาง และบอกเป็นนัยถึงทิศทางที่ กนง. จะตัดสินใจเรื่องดอกเบี้ย

เขาบอกว่า กนง. พิจารณา 3 เรื่องสำคัญ คือ เงินเฟ้อ เศรษฐกิจ และเสถียรภาพรวมการเงิน โดยเลือกให้ความสำคัญต่างกันในแต่ละช่วงเวลา เช่น ในช่วงที่เผชิญปัญหาโควิดหนัก ก็ให้น้ำหนักกับการฟื้นตัวเศรษฐกิจมากกว่าเรื่องของเงินเฟ้อ แต่ตอนนี้บริบทเศรษฐกิจที่เปลี่ยนการฟื้นตัวเศรษฐกิจมีความชัดเจนมากขึ้น ขณะเดียวกันความเสี่ยงเงินเฟ้อเพิ่มสูงขึ้น กนง. ก็มาดูแลเรื่องเงินเฟ้อมากขึ้น เห็นได้จากผลการประชุมครั้งสุดท้ายของ กนง. ที่คณะกรรมการทั้ง 7 คน มีเสียงโหวตออกมาเป็น 4:3 เสียง เรื่องของการคงดอกเบี้ย และสะท้อนถึงการดำเนินงานข้างหน้าว่าจะกระทำในทิศทางใด

ดอลลาร์แข็ง-บาทอ่อน

สิ่งที่เชื่อมโยงกันมาจากสภาพเศรษฐกิจโลก-ไทย ตอนนี้ คือประเด็นเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แข็งค่าขึ้นมาเหนือสกุลเงินยูโรเป็นครั้งแรกในรอบ 20 ปี สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสกุลเงินทั่วโลก รวมถึงไทยด้วย

กลางเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา อัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 32.1 บาท ปัจจุบันตัวเลขขึ้นมาในระดับ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ / 36 บาท แล้ว

อย่างไรก็ดี ดร.กำพล ย้ำว่า “วันนี้ดอลลาร์แข็งมาก ถ้าเทียบกับดอลลาร์ ก็อ่อนทุกประเทศอยู่แล้ว” ด้วยเหตุนี้ เพื่อสะท้อนสถานการณ์เงินบาทอย่างแท้จริง จึงควรเทียบกับสกุลเงินของประเทศคู่ค้าอื่นของไทยด้วย

ส่วนประเด็นว่าเงินบาทอ่อนใครได้ใครเสีย ผู้เชี่ยวชาญทุกคนเห็นตรงกันว่าย่อมมีคนได้คนเสียในกรณีนี้อยู่แล้ว โดยในกรณีที่บาทอ่อนเช่นนี้ก็จะส่งผลดีกับฝั่งผู้ส่งออกและภาคการท่องเที่ยว เพราะสินค้าหรือบริการของไทยมีราคาถูกในสายตาของผู้บริโภคที่ถือเงินสกุลที่แข็งกว่า จึงทำให้สินค้าและบริการของไทยเป็นที่ต้องการ ผู้ประกอบการขายสินค้าหรือบริการได้เยอะขึ้น

ในทางตรงกันข้าม ต้นทุนการนำเข้าสินค้าของไทยจะสูงขึ้น เนื่องจากค่าเงินของเราอ่อนลง สิ่งนี้อาจส่งผลเป็นงูกินหางกลับมาที่ประเด็นเงินเฟ้ออีกได้ เพราะอย่างที่บอกว่าไทยเป็นประเทศนำเข้าน้ำมัน หากต้นทุนในการนำเข้าน้ำมันสูงขึ้นก็จะกระทบต่อเป็นลูกโซ่

“ผมว่าแบงก์ชาติเขาดูระหว่างการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อ ถ้าวันนี้เขาจัดการเงินเฟ้อให้บาทแข็ง แล้วบาทเราแข็งกว่าคนอื่น การท่องเที่ยวก็กระทบ” ดร.กำพล วิเคราะห์

อัตราดอกเบี้ยนโยบาย เทียบกับเงินเฟ้อ. .  .

ขณะนี้ การปรับขึ้นดอกเบี้ยแทบจะกลายเป็นอาวุธเดียวของธนาคารกลางทั่วโลกเพื่อหวังคุมเงินเฟ้อ โดยเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมามีความเคลื่อนไหวดังต่อไปนี้

  • ธนาคารกลางแคนาดาปรับขึ้นดอกเบี้ยรวดเดียว 1% เป็น 2.5% เมื่อวันพุธ (13 ก.ค.) ถือว่าเป็นการปรับขึ้นดอกเบี้ยครั้งใหญ่ที่สุดนับแต่ปี 2541 และส่งสัญญาณจะปรับขึ้นดอกเบี้ยอีกทั้งที่อัตราดอกเบี้ยปัจจุบันถือว่าสูงที่สุดนับแต่ปี 2551
  • ธนาคารกลางฟิลิปปินส์ปรับขึ้นดอกเบี้ย 0.75% เป็น 3.25%
  • ธนาคารกลางนิวซีแลนด์ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย 0.5% สู่ระดับ 2.5% เมื่อวันที่ 13 ก.ค.

ย้อนจุดยืนแบงก์ชาติไทย

ปัจจุบัน อัตราเงินเฟ้อของไทยอยู่ในระดับสูงถึง 7.66% และมีแนวโน้มจะปรับสูงขึ้นอีก ไทยนั้นถือว่าอยู่ในกลุ่มประเทศที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำมาก และปรับอัตราดอกเบี้ยช้าที่สุด โดยยังไม่มีการปรับอัตราดอกเบี้ยขึ้นเลยในปีนี้ โดยมติที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. กำหนดให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ 0.5%

ของแพงไปหมดในเวลานี้
ของแพงไปหมดในเวลานี้

ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ ได้ส่งสัญญาณชัดเจนแล้วว่าเตรียมจะปรับขึ้นดอกเบี้ยเพื่อสกัดเงินเฟ้อ แต่จะปรับขึ้นอย่างช้า ๆ เพื่อไม่ให้กระทบเศรษฐกิจไทยที่อยู่ช่วงต้นของการฟื้นตัวจากโควิด-19

เคเคเค รีเสิร์ช โดยเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ว่า จากกระแสขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางทั่วโลก และความล่าช้าของนโยบายการเงินไทย บวกกับค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนลงต่อเนื่อง คาดการณ์ว่าธนาคารกลางแห่งประเทศไทยอาจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย 0.50% เป็น 1% ในการประชุม กนง. ที่จะมีขึ้นวันที่ 10 ส.ค.

ด้านศาสตราจารย์ อาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการศูนย์ความสามารถในการแข่งขันโลก สถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ (IMD World Competitiveness Center) ที่จัดทำรายงานการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขัน หรือ IMD World Competitiveness Ranking มองว่า มาตรการขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อแก้ปัญหาเงินเฟ้อ “เป็นมาตรการเดียวที่ทำได้ในตอนนี้ ไม่ใช่แค่ไทย แต่ทั่วโลก”

.

แต่สิ่งที่รัฐบาลไทยทำได้เพื่อช่วยเหลือประชาชนจากเรื่องข้าวของแพง คือ การอัดฉีดเงินสนับสนุน “ช่วยเหลือคนที่อยู่ฐานรากของพีระมิด คนที่ได้รับผลกระทบที่สุด คนที่จ่ายค่าผ่อนบ้านไม่ได้ ไม่มีเงินค่าข้าว เราต้องสนับสนุนพวกเขา”

เงินที่จะช่วยคนฐานรากเหล่านี้ ก็มาจากการดำเนินนโยบายภาษี ที่เรียกเก็บภาษีแบบขั้นบันได ผู้มีรายได้สูงและคนร่ำรวย ควรจะเสียภาษีเพิ่มขึ้น

ที่มาปัญหาเงินเฟ้อไทยคราวนี้

ดร.กิริฎา เภาพิจิตร ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศและการพัฒนา และผู้อำนวยการโครงการวิเคราะห์เศรษฐกิจเชิงลึก จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทย เมื่อวันที่ 13 ก.ค. ว่า ข้าวของที่แพงขึ้นส่วนใหญ่ในไทยได้รับผลกระทบจากราคาพลังงานของโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

เธออธิบายว่าจริงอยู่ที่สาเหตุหลักเป็นเพราะสงครามในยูเครน ทว่าทิศทางราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นเกิดมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาแล้ว เพราะเศรษฐกิจในหลายประเทศทั่วโลกโดยเพาะในฝั่งสหรัฐอเมริกาและทวีปยุโรปฟื้นตัวอย่างชัดเจนมาก ทำให้สินค้าหลายประเภทผลิตออกมาไม่เพียงพอความต้องการ

ขณะที่ความต้องการของผู้บริโภคปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ผู้ผลิตในหลายอุตสาหกรรมยังปรับตัวไม่ทันและจำนวนพนักงานไม่เพียงพอให้การผลิตสินค้าจนนำไปสู่ภาวะคอขวดในหลายธุรกิจ

เมื่อผสานรวมทั้งสองประเด็นเข้าด้วยกัน เทรนด์ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นจึงเห็นได้ตั้งแต่ก่อนเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน แล้ว

.

Leave a Reply