แมมมอธขนยาวเดินทางชั่วชีวิตเกือบเท่ากับวนรอบโลก 2 รอบ ชี้อาจสูญพันธุ์เพราะโลกร้อน

Mammoth

ช้างแมมมอธขนยาวเพศผู้ตัวหนึ่ง ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ตั้งชื่อให้ว่า “คิก” (Kik) อาจเคยเดินทางไกลอยู่ในดินแดนอะแลสกาอันกว้างใหญ่ ตอนที่มันยังมีชีวิตอยู่เมื่อ 17,100 ปีก่อน โดยคิดเป็นระยะทางได้ถึง 70,000 กิโลเมตร หรือเกือบเท่ากับเดินวนรอบโลก 2 รอบเลยทีเดียว

ทีมนักวิทยาศาสตร์นานาชาตินำโดยสหรัฐฯและแคนาดา เผยแพร่ผลการค้นพบข้างต้นในวารสาร Science โดยระบุว่าได้วิเคราะห์องค์ประกอบในงาความยาว 1.7 เมตร จากซากช้างแมมมอธขนยาววัย 28 ปี ที่พบในทางตอนเหนือของเทือกเขาบรูกส์เรนจ์ (Brooks Range) ซึ่งตั้งอยู่ในรัฐอะแลสกาของสหรัฐฯ และเขตยูคอนของแคนาดา

งาของช้างแมมมอธนั้นมีลักษณะคล้ายวงปีของต้นไม้ โดยจะมีการสร้างเนื้องาชั้นใหม่เคลือบทับชั้นเก่าทุกวัน ทำให้เราสามารถวิเคราะห์องค์ประกอบทางเคมีที่อยู่ในเนื้องาแต่ละชั้น เพื่อทราบถึงสภาพความเป็นอยู่ของช้างแมมมอธในแต่ละช่วงวัย เช่นอาหารที่กินเข้าไป โรคภัย หรือถิ่นที่อยู่ในฤดูกาลต่าง ๆ ของมันได้

โครงกระดูกแมมมอธขนยาวเพศผู้ สูงสามเมตรครึ่ง ยาวห้าเมตรครึ่ง และอาจหนักถึงหกตันขณะที่ยังมีชีวิตอยู่
โครงกระดูกแมมมอธขนยาวเพศผู้ สูงสามเมตรครึ่ง ยาวห้าเมตรครึ่ง และอาจหนักถึงหกตันขณะที่ยังมีชีวิตอยู่

ในกรณีของเจ้าคิกนั้น มีการวิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปของธาตุสตรอนเทียมหรือสตรอนเชียม (Sr) ในหลากหลายรูปแบบ เนื่องจากจะช่วยบ่งบอกถึงชนิดพืชที่เป็นอาหารของมัน รวมทั้งถิ่นที่อยู่ของพืชนั้นด้วย โดยต้นพืชจะดูดซับแร่ธาตุในดินและชั้นหินด้านล่างเอาไว้ก่อนเข้าสู่ร่างกายแมมมอธ

สัดส่วนของไอโซโทปสตรอนเทียมในชั้นหินที่เป็นเปลือกโลกเก่าแก่ กับชั้นหินใหม่ที่เกิดจากตะกอนภูเขาไฟนั้นไม่เท่ากัน ชั้นหินทั้งสองแบบยังตั้งอยู่คนละส่วนของดินแดนอะแลสกาอีกด้วย ทำให้สามารถทราบได้ว่าเจ้าคิกเดินทางท่องเที่ยวไปที่ไหนมาบ้างในช่วงเวลาที่มันยังมีชีวิตอยู่

นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้วิเคราะห์สัดส่วนไอโซโทปของออกซิเจนในงาของเจ้าคิก เพื่อให้ทราบถึงอุณหภูมิและสภาพอากาศในยุคนั้น ซึ่งตรงกับช่วงปลายของสมัยไพลสโตซีน (Pleistocene) หรือช่วงปลายของยุคน้ำแข็ง อันเป็นช่วงเวลาไม่กี่พันปีก่อนที่ช้างแมมมอธจะสูญพันธุ์ไปหมดสิ้นเมื่อราว 12,000 ปีก่อน

แมมมอธขนยาวเดินทางชั่วชีวิต ไกลเกือบเท่ากับวนรอบโลก 2 รอบ

ผลวิเคราะห์พบว่าเจ้าคิกได้ออกเดินทางร่อนเร่ไปไกลถึง 70,000 กิโลเมตร ตลอดช่วงชีวิตของมัน โดยคาดว่าตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 16 ปี มันยังอยู่ร่วมกับโขลงที่มีช้างพังเป็นผู้นำ ก่อนจะถูกขับไล่ให้ต้องออกพเนจรไปตามลำพัง โดยเที่ยวหากินเป็นบริเวณกว้างอยู่ในแถบดินแดนอะแลสกาชั้นใน ไปจนถึงทางตอนเหนือของเทือกเขาบรูกส์เรนจ์ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มันจบชีวิตลง

ทีมผู้วิจัยพบว่า ช่วงเวลา 18 เดือนสุดท้ายก่อนที่เจ้าคิกจะตาย มันเที่ยวหากินอยู่ในบริเวณแคบ ๆ ใกล้กับสถานที่ซึ่งคนยุคปัจจุบันพบซากของมัน เนื่องจากมันอาจจะป่วยหรือได้รับบาดเจ็บจากการต่อสู้ หรืออาจถูกไล่ล่าโดยมนุษย์ยุคน้ำแข็ง ในช่วงปลายฤดูหนาวหรือฤดูใบไม้ผลิ ซึ่งผลวิเคราะห์ไอโซโทปของคาร์บอนและไนโตรเจนชี้ว่า เจ้าคิกขาดอาหารจนตาย

เมื่อนำข้อมูลทั้งหมดมาเปรียบเทียบกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งกำลังใกล้สิ้นสุดยุคน้ำแข็ง ทีมผู้วิจัยชี้ว่าภาวะโลกร้อนในสมัยนั้นทำให้ภูมิประเทศของอะแลสกาเปลี่ยนไป จากทุ่งหญ้ากว้างโล่งที่เหมาะกับการดำรงชีวิตของช้างแมมมอธ กลายมาเป็นป่าไม้และพื้นที่ชุ่มน้ำที่เต็มไปด้วยหล่มโคลน ทำให้มันหากินได้ยากขึ้นและถูกมนุษย์ไล่ล่าได้ง่ายขึ้น

หลักฐานที่ค้นพบล่าสุดนี้ ช่วยสนับสนุนแนวคิดที่ว่าช้างแมมมอธสูญพันธุ์เพราะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ มากกว่าจะเป็นเพราะการล่าของมนุษย์ยุคน้ำแข็งดังที่เคยเชื่อกันมา

Leave a Reply