โควิด-19 : ค้างคาวเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จริงหรือไม่

A long-eared bat against a pink background

เรื่องอะไรก็ตามที่เกี่ยวกับค้างคาวทำให้ ไอโรโร ทันชิ ตื่นเต้น

“พวกมันเป็นผลงานชิ้นเอก[ของธรรมชาติ]” ทันชิ ว่า

เธอเป็นนักศึกษาระดับปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยเท็กซัสเท็คในสหรัฐฯ เป็นนักวิทยาศาสตร์อีกคนหนึ่งที่พยายามจะแก้ไขภาพลักษณ์เชิงลบของค้างคาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

นักอนุรักษ์กังวลมากเมื่อเห็นรายงานว่าคนพยายามฆ่าค้างคาวเป็นฝูง หรือไม่ก็พยายามไล่พวกมันออกจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นที่อินโดนีเซียไปจนถึงออสเตรเลีย

แต่ค้างคาวเป็นต้นเหตุของการระบาดใหญ่คราวนี้จริงหรือ

ทำไมบางคนถึงโทษค้างคาว

Bat conservationist Iroro Tanshi smiling while holding a bat
คำบรรยายภาพ,ไอโรโร ทันชิ พยายามจะแก้ไขภาพลักษณ์เชิงลบของค้างคาวที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นตัวแพร่เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่จนกลายเป็นการระบาดใหญ่ไปทั่วโลก

ทันชิอธิบายว่า คนโทษค้างคาวเพราะว่าไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(Sars-Cov2) ซึ่งทำให้เกิดโรคโควิด-19 คล้ายกันถึง 96 เปอร์เซ็นต์กับไวรัสอีกสายพันธุ์ซึ่งพบในค้างคาวเกือกม้า

นี่ทำให้ค้างคาวทุกสายพันธุ์ต้องตกเป็นผู้ต้องหา แต่พวกมันก็มีวิทยาศาสตร์เป็นหลักฐานแก้ต่าง

นักวิจัยเก็บตัวอย่างค้างคาวมงกุฎหาเชื้อโควิด-19

“งานวิจัยเรื่องวิวัฒนาการที่ออกมาเมื่อไม่นานมานี้ระบุว่า ราว 40-70 ปีที่แล้ว ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่(Sars-Cov2) แยกตัวออกมาจากไวรัสอีกสายพันธุ์หนึ่งซึ่งพบในค้างคาวเกือกม้า” ทันชิ เล่า “เป็นหลักฐานว่าค้างคาวอาจจะไม่ได้นำเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ไปแพร่ระบาดในมนุษย์”

ดร.พอล ดับเบิลยู เวบาลา จากภาควิชาชีววิทยาสัตว์ป่าจากมหาวิทยาลัยมาไซมาราในประเทศเคนยา ก็เห็นด้วย เขาบอกว่า ในเชิงวิวัฒนาการ ค้างคาวห่างไกลจากมนุษย์มาก ดังนั้นถึงแม้ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มาจากค้างคาวจริง ก็น่าจะผ่านตัวกลางอีกตัวอยู่ดี

ต้องโทษใคร

Dr Paul Webala on a field trip, emerging from a bat cave
คำบรรยายภาพ,ดร.เวบาลา บอกว่า มนุษย์ได้สร้างสภาวะที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการระบาดใหญ่จากการไปรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า

ทันชิและเพื่อนนักวิจัยเห็นตรงกันว่ามนุษย์ต่างหาก ไม่ใช่ค้างคาว ที่เป็นผู้ทำให้เกิดการระบาดใหญ่ในครั้งนี้

ดร.เวบาลา บอกว่า มนุษย์ได้สร้างสภาวะที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการระบาดใหญ่จากการไปรุกล้ำที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า รวมถึงการค้า ขนย้าย และกักเก็บสัตว์ป่าด้วย

“การกระทำเหล่านี้สร้างสภาวะที่เหมาะสมอย่างยิ่งให้เชื้อโรคแพร่ระบาดข้ามสายพันธุ์ไปสู่สัตว์อื่น ๆ ที่ไม่เคยไม่ปฏิสัมพันธ์กันมาก่อน” ดร.เวบาลา กล่าว

ด้วยเหตุนี้ การฆ่าค้างคาวจะไม่ได้ป้องกันเราจากโรคโควิด-19 แต่เป็นตรงกันข้าม นักอนุรักษ์มองว่าการฆ่าหรือไล่พวกมันออกจากที่อยู่อาศัยตามธรรมชาติจะยิ่งทำให้สถานการณ์แย่เข้าไปใหญ่

A horseshoe bat sleeping while suspended from the ceiling of a cave.

ดร.เวบาลา บอกว่า ราว 70 เปอร์เซ็นต์ของสายพันธุ์ค้างคาวมากกว่า 1.4 หมื่นสายพันธุ์ กินสัตว์ที่เป็นแมลงอย่างเดียว และแมลงหลายชนิดที่ค้างคาวกินสามารถเป็นพาหะนำโรคที่ส่งผลกระทบต่อมนุษย์ด้วย อาทิ ไข้เลือดออกและมาลาเรีย

ดังนั้นการทำให้ค้างคาวต้องพลัดถิ่นจะเพิ่มแนวโน้มให้โรคเกิดแพร่ระบาดมากขึ้น

ค้างคาวมีประโยชน์ต่อมนุษย์อย่างไร

A fruit bat mid-flight
คำบรรยายภาพ,ค้างคาวช่วยแพร่กระจายเมล็ดพันธุ์พืชกว่า 500 ชนิด

“หากคุณใส่ผ้าฝ้าย กินชาหรือกาแฟ หรือว่ากินอาหารที่ทำมาจากข้าวโพด หรืออาหารที่มาจากฟาร์ม ก็เท่ากับว่าชีวิตประจำวันของคุณได้ข้องเกี่ยวกับค้างคาวแล้ว” ดร.เวบาลา กล่าว

ค้างคาวสำคัญมากต่อระบบนิเวศน์ เป็นตัวถ่ายละอองเรณู แพร่กระจายเมล็ดพันธุ์ และก็ช่วยควบคุมศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นอาหาร เครื่องสำอาง เครื่องเรือน หรือยารักษาโรค ต่างก็ได้ประโยชน์จากค้างคาวทั้งสิ้น

หากไม่มีค้างคาว อินโดนีเซียจะไม่ประสบความสำเร็จในการเพาะปลูกทุเรียน มาดากัสการ์จะสูญเสียต้นเบาบับอันเป็นเอกลักษณ์ และการเพาะปลูกถั่วแมคคาเดเมียก็จะเสียหาย

ดร.เวบาลา บอกว่า ค้างคาวพาเมล็ดพันธุ์แพร่กระจายมากกว่านกถึง 2 เท่า ช่วยในกระบวนการแพร่กระจายสายพันธุ์พืชและฟื้นฟูป่าในพื้นที่เขตร้อน

ความสำคัญอื่น ๆ ของค้าวคาว

An x-ray image of a long-eared bat against a blue background
คำบรรยายภาพ,ค้างคาวเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมชนิดเดียวที่บินได้

ทันชิบอกว่า เราสามารถพบค้างคาวได้ทุกทวีปในโลกยกเว้นเพียงแอนตาร์กติกาเท่านั้น พวกมันปรับตัวได้ดีเยี่ยมระหว่างวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต

ดร.เวบาลา บอกว่า ผู้เชี่ยวชาญเพิ่งเริ่มค้นพบว่าค้างคาวมีระบบภูมิคุ้มกันที่ดีมากซึ่งปรับตัวเพื่อรับมือกับเชื้อโรคและโรคต่าง ๆ โดยเฉพาะ

“ความแข็งแกร่งอันน่าทึ่งนี้ มีแนวโน้มช่วยให้เราสามารถค้นพบวิธีการป้องกันไวรัสใหม่ ๆ ในร่างกายมนุษย์ได้”

Leave a Reply