การค้นพบใหม่ ว่าด้วยสิ่งมีชีวิตต่างดาวในรอบปี 2022

โอมูอามูอา (Oumuamua) มีความหมายว่า “ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่มาถึงเป็นคนแรก”

มนุษย์เราคือสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาเผ่าพันธุ์เดียวในจักรวาลหรือไม่ ? คำถามนี้เป็นเรื่องที่เหล่านักวิทยาศาสตร์พยายามหาคำตอบมานาน และยังคงจะต้องค้นหากันต่อไป โดยในรอบหนึ่งปีที่ผ่านมามีการศึกษาและการค้นพบใหม่ ๆ ซึ่งช่วยไขปริศนาเกี่ยวกับเอเลียนที่ทุกคนต่างสนใจใคร่รู้ดังต่อไปนี้

1. ดาวเคราะห์น้อยโอมูอามูอายังน่าสงสัยว่าเป็นยานต่างดาว

ดาวเคราะห์น้อยประหลาดโอมูอามูอา (Oumuamua) ยังคงเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่ามันคืออะไรกันแน่ ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบัน KASI ของเกาหลีใต้เผยผลการศึกษาที่ชี้ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่โอมูอามูอาอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างดาว แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยที่สันนิษฐานว่ามันเป็นเพียงแท่งไฮโดรเจนแข็งธรรมดาเท่านั้น

นักวิทยาศาสตร์บางกลุ่มเชื่อว่า การระเหิดเป็นไอทำให้เกิดก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ ซึ่งขับเคลื่อนโอมูอามูอาให้พุ่งทะยานได้อย่างรวดเร็วผิดปกติ ทั้งยังเร่งความเร็วขึ้นได้เองในบางช่วงด้วย แต่ทีมวิจัยของฮาร์วาร์ดมองว่า หากโอมูอามูอาเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนแข็งแล้ว มันก็น่าจะสลายตัวไปจนหมดก่อนหน้านี้ ระหว่างการเดินทางที่แสนไกลมาจากนอกระบบสุริยะ

รูปทรงที่ยาวรีคล้ายมวนซิการ์หรือเข็ม ออกจะผิดแปลกไปจากดาวเคราะห์น้อยที่พบได้ทั่วไป ทำให้ยังคงน่าสงสัยว่าที่จริงแล้วโอมูอามูอาไม่ใช่วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว เพราะรูปทรงแบบนี้ช่วยลดแรงเสียดทานและความเสียหายจากฝุ่นละอองหรือกลุ่มก๊าซในอวกาศได้อย่างมาก จึงมีความเหมาะสมในการใช้สร้างยานท่องอวกาศมากที่สุด

2. เราอาจได้พบสิ่งมีชีวิตในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์

วงการชีวดาราศาสตร์ค้นพบเรื่องที่น่าตื่นเต้น เมื่อทีมนักวิจัยนานาชาติตรวจพบร่องรอยของก๊าซฟอสฟีน (Phosphine) ซึ่งอาจเป็นเครื่องหมายบ่งบอกว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่ในชั้นบรรยากาศของดาวศุกร์ โดยพบที่ความสูง 50 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวดาว ในอัตราความเข้มข้นราว 10-20 ส่วนในพันล้านส่วนของบรรยากาศ

ก๊าซฟอสฟีนมีความเกี่ยวข้องกับสิ่งมีชีวิตบนโลก อย่างเช่นจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในลำไส้ของสัตว์ต่าง ๆ และบรรดาจุลชีพซึ่งอาศัยอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีออกซิเจนต่ำเช่นตามหนองบึง ประเด็นนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์มีความหวังว่า เราอาจได้พบจุลินทรีย์ที่มีกลไกการดำรงชีวิตคล้ายกันในกลุ่มเมฆของดาวศุกร์บ้าง

อย่างไรก็ตาม มีความเป็นได้ว่าก๊าซฟอสฟีนบนดาวศุกร์อาจมาจากแหล่งกำเนิดอื่นที่ไม่ใช่สิ่งมีชีวิต อีกทั้งการทวนสอบข้อมูลที่ค้นพบในตอนแรกซ้ำอีกครั้งยังชี้ว่า มีการประเมินอัตราความเข้มข้นผิดพลาด โดยอันที่จริงมีก๊าซฟอสฟีนอยู่เจือจางกว่าที่คาดไว้มาก เพียง 1 ใน 7 ของปริมาณที่ระบุไว้เดิมเท่านั้น

รูปตัวอีที

3. มนุษย์มีเพื่อนร่วมกาแล็กซีที่สื่อสารกันได้อย่างน้อย 36 อารยธรรม

ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของสหราชอาณาจักร คิดค้นวิธีคำนวณหาขอบเขตความเป็นไปได้ที่จะมีเอเลียนทรงภูมิปัญญาซึ่งสามารถติดต่อสื่อสารกับมนุษย์อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือก โดยผลการคำนวณปรากฏว่า อาจมีอารยธรรมต่างดาวในระดับสูงทัดเทียมกับเราอยู่อย่างน้อยถึง 36 อารยธรรมเลยทีเดียว

สมมติฐานในการคำนวณดังกล่าวตั้งอยู่บนหลักการที่ว่า สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาสามารถจะเกิดขึ้นได้บนดาวทุกดวงที่มีสภาพคล้ายโลก และเมื่อเวลาผ่านไปราว 4.5 – 5.5 พันล้านปีหลังดาวเคราะห์นั้นก่อตัวขึ้น จนมันมีอายุเก่าแก่เท่ากับโลก วิวัฒนาการจะนำสิ่งมีชีวิตต่างดาวนั้นมาสู่อารยธรรมขั้นสูง จนสามารถติดต่อสื่อสารข้ามห้วงอวกาศได้เช่นเดียวกับมนุษย์หรือก้าวหน้ายิ่งกว่า

ผลคำนวณตามหลักการดังกล่าวยังชี้ว่า สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อยู่ใกล้โลกที่สุด อาจอยู่ห่างออกไปถึงราว 17,000 ปีแสง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เรายังค้นหาอารยธรรมต่างดาวไม่พบ เนื่องจากสัญญาณวิทยุที่มนุษย์เคยส่งออกไปนั้นเดินทางได้ช้าและมีพลังไม่สูงนัก ตัวอย่างเช่นสัญญาณวิทยุที่มนุษย์ทำการกระจายเสียงครั้งแรกเมื่อปี 1895 หากส่งสัญญาณออกไปในห้วงอวกาศ ขณะนี้มันจะไปได้ไกลจากโลกเพียง 125 ปีแสงเท่านั้น

4. เอเลียนในระบบสุริยะอื่นกว่า 1 พันแห่ง อาจกำลังเฝ้ามองเราอยู่

ในขณะที่เรามุ่งค้นหามนุษย์ต่างดาว หลายคนอาจมีคำถามว่า พวกเขาเหล่านั้นก็กำลังมองหาเราอยู่ด้วยหรือเปล่า ? ในปีนี้ทีมนักดาราศาสตร์ชาวอเมริกันได้คิดคำนวณ เพื่อประมาณการจำนวนของระบบดาวฤกษ์ที่สามารถมองตรงมายังโลกได้โดยไม่มีอะไรกีดขวาง และพบว่ามีอยู่ถึง 1,000 แห่ง ในรัศมี 300 ปีแสงจากโลก

สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อาศัยบนดาวเคราะห์บริวารดวงใดดวงหนึ่งของระบบดาวฤกษ์เหล่านี้ สามารถจะมองเห็นโลกได้เมื่อเกิดปรากฏการณ์ทรานซิต (transit) หรือการที่โลกเคลื่อนผ่านหน้าดวงอาทิตย์ จนทำให้แสงอาทิตย์มืดมัวลงกว่าปกติชั่วคราว ซึ่งเป็นวิธีการเดียวกับที่มนุษย์ใช้ค้นหาดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ

หากเอเลียนเหล่านั้นมีเทคโนโลยีในระดับที่ทัดเทียมกับมนุษย์ พวกเขาก็จะสามารถตรวจพบร่องรอยของก๊าซมีเทนและก๊าซออกซิเจนในชั้นบรรยากาศโลกได้ ซึ่งก็จะทำให้ทราบว่ามีสิ่งมีชีวิตอยู่บนโลกใบนี้

กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes Radio Telescope) ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย
กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes Radio Telescope) ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย

5. สัญญาณประหลาดจากดาวฤกษ์นอกระบบสุริยะที่อยู่ใกล้เรามากที่สุด

โครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวหรือเซติ (SETI)กำลังตรวจสอบที่มาของสัญญาณวิทยุประหลาด BLC1จากนอกระบบสุริยะ โดยมีความเป็นไปได้ว่ามันคือสัญญาณจากเทคโนโลยีของเอเลียน ที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์บริวารดวงใดดวงหนึ่งของ “พร็อกซิมา เซนทอรี” ดาวฤกษ์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นชี้ว่า สัญญาณนี้ไม่ได้มาจากดาวเทียมหรือเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่สอดคล้องกับการโคจรของดาวเคราะห์อีกด้วย ทำให้น่าสงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณที่ส่งมาจากพื้นผิวของดาวเคราะห์พร็อกซิมา บี (Proxima b) บริวารของพร็อกซิมา เซนทอรี ที่เคยเชื่อกันว่ามีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด

นักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า BLC1 เป็นสัญญาณจากนอกโลกสัญญาณแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะเป็นของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว เช่นเดียวกับสัญญาณ “ว้าว!” (Wow! Signal) ที่ตรวจจับได้เมื่อปี 1977

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยังไม่ปักใจเชื่อว่าสัญญาณประหลาดนี้จะเป็นของเอเลียน เพราะยังไม่พบข้อมูลที่ใช้สื่อความหมายใด ๆ แฝงอยู่ ทั้งโอกาสที่ 2 อารยธรรมจะเกิดขึ้นในกาแล็กซีเดียวกัน ซ้ำยังมาอยู่เป็นเพื่อนบ้านใกล้ชิดกันนั้น แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย

6. เอเลียนไม่ได้เป็นผู้ส่งสัญญาณ FRB

การปะทุสัญญาณวิทยุแบบฉับพลัน (Fast Radio Burst – FRB) จากห้วงอวกาศลึก ซึ่งยังหาสาเหตุที่แน่นอนไม่ได้นั้น เคยมีการสันนิษฐานกันว่าอาจเป็นสัญญาณจากเอเลียน หรือเป็นคลื่นกระแทกจากไอพ่นของยานต่างดาวความเร็วสูงก็เป็นได้

แต่ในปีนี้แนวคิดแบบนิยายวิทยาศาสตร์ดังกล่าวต้องถูกหักล้างไป เมื่อมีการค้นพบแหล่งกำเนิดของ FRB ที่อยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกเป็นครั้งแรก โดยที่มาของการปะทุสัญญาณวิทยุประหลาดนี้คือ “แมกนีทาร์” (magnetar) ดาวนิวตรอนหมุนเร็วที่ทรงพลังแม่เหล็กอย่างมหาศาล

แมกนีทาร์ปลดปล่อย FRB รวมทั้งแผ่ลำของรังสีเอกซ์และรังสีแกมมาที่ทรงพลังออกไปในห้วงอวกาศเป็นครั้งคราว แต่อย่างไรก็ตาม นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่ายังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นสาเหตุของการปะทุสัญญาณ FRB นอกเหนือจากแมกนีทาร์อยู่อีกอย่างแน่นอน

ภาพจำลองดาวแคระขาวซึ่งเป็นซากของดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว
ภาพจำลองดาวแคระขาวซึ่งเป็นซากของดาวฤกษ์ที่ตายแล้ว

7. ดาวแคระขาวอาจเป็นแหล่งพลังงาน ช่วยค้ำจุนโลกของมนุษย์ต่างดาว

ดาวฤกษ์คือแหล่งกำเนิดพลังงานที่หล่อเลี้ยงสรรพชีวิตบนดาวเคราะห์บริวาร แต่เมื่อดาวฤกษ์ถึงคราวสิ้นอายุขัย ก็ใช่ว่าจะทำให้สิ่งมีชีวิตที่พึ่งพิงอาศัยอยู่ต้องดับสูญไปด้วย ล่าสุดมีนักวิทยาศาสตร์ของ SETI เสนอความคิดว่า สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาอาจคิดค้นเทคโนโลยีที่ทำให้ใช้พลังงานจาก “ดาวแคระขาว” หรือซากดาวฤกษ์ที่ตายแล้วและยุบตัวลง เพื่อความอยู่รอดและดำรงเผ่าพันธุ์ต่อไปอีกได้

แนวคิดดังกล่าวชี้ว่า นักวิทยาศาสตร์ผู้มุ่งค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว ไม่ควรจะละเลยหรือมองข้ามดาวเคราะห์ที่โคจรรอบดาวฤกษ์ที่ตายไปแล้ว เพราะอาจยังมีเผ่าพันธุ์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงดึงพลังงานที่ยังเหลืออยู่ของดาวแคระขาวมาใช้ประโยชน์ได้ แม้ดาวแคระขาวจะมีแสงสว่างและพลังงานลดลงกว่าตอนที่เป็นดาวฤกษ์มากแล้วก็ตาม

8. ดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้หลุมดำอาจเป็นที่อยู่อาศัยของเอเลียน

ดาวเคราะห์ที่มีสภาพเหมาะสมให้สิ่งมีชีวิตถือกำเนิดและอาศัยอยู่ได้นั้น ไม่จำเป็นจะต้องมีดาวฤกษ์เป็นศูนย์กลางการโคจรอย่างเช่นโลกกับดวงอาทิตย์เสมอไป แต่หลุมดำมวลยิ่งยวด (supermassive blackhole) ซึ่งมักพบอยู่ที่ใจกลางดาราจักรต่าง ๆ ก็สามารถให้กำเนิดสรรพชีวิตได้

แม้คนส่วนใหญ่จะมองว่าหลุมดำคือสัญลักษณ์ของการทำลายล้าง แต่เมื่อช่วงต้นปีนี้ ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ชาวอเมริกันเสนอแนวคิดใหม่ที่เชื่อว่า หากดาวเคราะห์โคจรอยู่ในระยะห่างที่พอเหมาะจากหลุมดำ รังสีที่แผ่ออกมาจะไม่ทำลายชั้นบรรยากาศของดาว ทั้งยังจะช่วยให้โมเลกุลต่าง ๆ แตกตัวกลายเป็นสารประกอบที่จำเป็นต่อสิ่งมีชีวิต ส่วนแสงสว่างจากจานหมุนรอบหลุมดำ ก็อาจช่วยให้เกิดการสังเคราะห์ด้วยแสงขึ้นได้อีกด้วย

แนวเส้นขอบกาแล็กซีดำมืด

9. สิ่งมีชีวิตต่างดาวอาจหายใจโดยใช้ไฮโดรเจน

ก่อนหน้านี้ดาวเคราะห์ที่ไร้ออกซิเจนเป็นองค์ประกอบในบรรยากาศ มักถูกนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวมองข้ามไป เพราะเห็นว่าดาวนั้นไม่มี “อากาศ” สำหรับใช้หายใจได้ ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว อากาศที่เหมาะสมกับเหล่าเอเลียนอาจเป็นก๊าซชนิดอื่นก็ได้

ล่าสุดงานวิจัยของนักชีวดาราศาสตร์จากสถาบันเอ็มไอที (MIT) ของสหรัฐฯ ได้ชี้ให้เห็นว่าแบคทีเรียจำพวกอีโคไล (E.Coli) สามารถอยู่รอดได้ในบรรยากาศจำลองของห้องปฏิบัติการ โดยทีมผู้วิจัยได้ทำให้หลอดทดลอง 2 หลอดที่บรรจุแบคทีเรียอิ่มตัวด้วยก๊าซไฮโดรเจนและก๊าซฮีเลียมบริสุทธิ์

ผลปรากฏว่าจุลชีพชนิดนี้สามารถอยู่รอดได้ในภาวะที่ไร้ออกซิเจนทั้งสองแบบ แม้การเจริญเติบโตและการขยายพันธุ์ของพวกมันจะหยุดชะงักไปก็ตาม ซึ่งผลการทดลองนี้เปิดทางสู่ความเป็นไปได้ ในการค้นหาสิ่งมีชีวิตบนดาวที่มีองค์ประกอบของบรรยากาศแปลก ๆ มากขึ้น

10. เผ่าพันธุ์มนุษย์ต่างดาวส่วนใหญ่อาจดับสูญไปหมดแล้ว

ทำไมเราถึงค้นหามนุษย์ต่างดาวไม่เจอเสียที ? คำตอบหนึ่งที่มีความเป็นไปได้สูงก็คือ พวกเขาพากันล้มหายตายจากไปนานแล้ว และอารยธรรมต่างดาวที่รุ่งเรืองก็สิ้นสูญไปจนหมดแล้ว

ทีมนักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนีย หรือแคลเทค (CalTech)ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ คำนวณหาสถานที่และโอกาสที่เหมาะที่สุดสำหรับการเกิดขึ้นของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาในกาแล็กซีทางช้างเผือก รวมทั้งนำปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งส่งผลต่อการทำลายล้างอารยธรรมของพวกเขามาคำนวณร่วมด้วย โดยใช้การปรับปรุงสมการของเดรก (Drake equation) เป็นพื้นฐาน

ทีมผู้วิจัยพบว่า โอกาสสูงสุดที่จะเกิดสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาขึ้นในกาแล็กซีทางช้างเผือก คือเมื่อ 5.5 พันล้านปีก่อน ซึ่งเป็นเวลาก่อนที่โลกจะก่อตัวขึ้นในระบบสุริยะด้วยซ้ำ ทำให้สันนิษฐานได้ว่ามนุษย์โลกเป็นเผ่าพันธุ์ผู้มาทีหลัง และได้พัฒนาอารยธรรมของตนขึ้นอย่างโดดเดี่ยว ในช่วงเวลาที่ไม่เหลือเพื่อนร่วมกาแล็กซีอยู่ด้วยแล้ว

Leave a Reply