นักดาราศาสตร์พบพื้นที่ความปลอดภัยสูงสุด สำหรับสิ่งมีชีวิตในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ท้องฟ้ายามราตรีที่อุทยาน Writing-on-Stone Provincial Park รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา
ท้องฟ้ายามราตรีที่อุทยาน Writing-on-Stone Provincial Park รัฐอัลเบอร์ตา ประเทศแคนาดา

ผลการศึกษาล่าสุดเพื่อค้นหาบริเวณที่มีความปลอดภัยต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตในกาแล็กซีทางช้างเผือก พบว่าพื้นที่แถบวงแหวนในรัศมีห่างจากศูนย์กลางดาราจักร 6,500 – 26,000 ปีแสง มีความปลอดภัยสูงสุดในยุคปัจจุบัน โดยโลกของเราก็โคจรอยู่ภายในขอบเขตที่ปลอดภัยไร้กังวลนี้ด้วย

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยอินซูเบรียของอิตาลี ได้ตีพิมพ์เผยแพร่รายงานวิจัยข้างต้นในวารสาร Astronomy and Astrophysics ฉบับเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยระบุว่าพวกเขาพยายามมองหาบริเวณที่ห่างไกลจากการระเบิดซูเปอร์โนวา และมีการปะทุรังสีแกมมาน้อยที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ดร. ริกคาร์โด สปิเนลลี ผู้นำทีมวิจัยบอกว่า “การระเบิดอย่างรุนแรงในห้วงอวกาศ เป็นสาเหตุที่ไม่อาจมองข้ามสำหรับการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ในโลกยุคดึกดำบรรพ์ ทั้งยังอาจเป็นภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั่วกาแล็กซีทางช้างเผือกมาโดยตลอด”

รังสีแกมมาและอนุภาคพลังงานสูงอื่น ๆ ที่ถูกปลดปล่อยออกมาจากการระเบิด สามารถทำลายชั้นบรรยากาศที่ห่อหุ้มดาวเคราะห์ในบริเวณใกล้เคียงจนหมดสิ้น รวมทั้งทำลายสารพันธุกรรมหรือดีเอ็นเอในตัวของสิ่งมีชีวิตจนต้องตายลง

งานวิจัยก่อนหน้านี้ชี้ว่า การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ในยุคออร์โดวิเชียน (Ordovician) เมื่อ 450 ล้านปีก่อน เกิดจากการปะทุรังสีแกมมาในห้วงอวกาศบริเวณที่ใกล้กับโลก

ในครั้งนี้ทีมนักวิจัยของอิตาลี ใช้แบบจำลองคอมพิวเตอร์ช่วยคำนวณหาจุดที่มีโอกาสเกิดการระเบิดซูเปอร์โนวา และการปะทุรังสีแกมมาได้สูง ซึ่งได้แก่บริเวณที่มีการก่อกำเนิดดาวฤกษ์จำนวนมหาศาลในกาแล็กซีทางช้างเผือก

กล้องโทรทรรศน์วอร์ซอ (Warsaw Telescope) ใต้ทางช้างเผือก
กล้องโทรทรรศน์วอร์ซอ (Warsaw Telescope) ใต้ทางช้างเผือก

เมื่อทำการศึกษาย้อนไปในอดีตถึง 1.1 หมื่นล้านปีก่อน ทีมผู้วิจัยพบว่าในยุคเริ่มแรกที่กาแล็กซีทางช้างเผือกเพิ่งถือกำเนิดขึ้น พื้นที่แถบวงแหวนในรัศมีห่างจากศูนย์กลางดาราจักร 33,000 ปีแสง เต็มไปด้วยการระเบิดรุนแรงที่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง ทำให้ไม่เอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเท่าบริเวณขอบของดาราจักรรอบนอก

ต่อมาเมื่อราว 6 พันล้านปีก่อน กาแล็กซีทางช้างเผือกที่มีอายุมากขึ้นเริ่มเกิดการระเบิดน้อยครั้งลง ทำให้พื้นที่ปลอดภัยสำหรับสิ่งมีชีวิตขยายตัวกว้างขึ้น จนปัจจุบันครอบคลุมพื้นที่แถบวงแหวนในรัศมีห่างจากศูนย์กลางดาราจักร 6,500 – 26,000 ปีแสง ซึ่งโลกของเราก็โคจรอยู่ภายในขอบเขตนี้ด้วย

ทีมผู้วิจัยยังระบุว่า นับวันความปลอดภัยในห้วงอวกาศบริเวณที่ใกล้โลกจะยิ่งเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยแทบไม่มีโอกาสได้รับผลกระทบจากเหตุระเบิดรุนแรง ซึ่งยังคงมีอยู่บ่อยครั้งตรงศูนย์กลางดาราจักร

ผลการศึกษานี้ยังชี้ว่า มนุษย์มีโอกาสสูงขึ้นในการค้นพบดาวเคราะห์ที่อยู่อาศัยได้ ภายในห้วงอวกาศแถบที่ไม่ห่างไกลไปจากโลกมากนักด้วย

Leave a Reply