พฤติกรรมกินพี่น้องร่วมท้องของตัวอ่อน อาจทำให้ฉลามยักษ์ “เม็กกาโลดอน” มีขนาดมหึมา

Megalodon
คำบรรยายภาพ,เม็กกาโลดอนซึ่งเรียกได้ว่าเป็นไดโนเสาร์แห่งเผ่าพันธุ์ฉลาม เคยมีชีวิตอยู่บนโลกเมื่อราว 3-23 ล้านปีก่อน

ทีมนักวิทยาศาสตร์ในสหรัฐฯ สันนิษฐานว่า การที่ฉลามยักษ์ยุคดึกดำบรรพ์ “เม็กกาโลดอน” มีขนาดมหึมาจนกลายเป็นปลานักล่าขนาดใหญ่ที่สุดในท้องทะเลนั้น อาจเป็นผลมาจากการที่ตัวอ่อนซึ่งกำลังเติบโตอยู่ในมดลูกของแม่ปลามีพฤติกรรมกินไข่ใบอื่น ๆ ที่ยังไม่ฟักในท้องแม่

งานวิจัยชิ้นนี้ตีพิมพ์ในวารสาร Historical Biology โดยทีมนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเดอโปล ในนครชิคาโก ของสหรัฐฯ ค้นพบเรื่องนี้ระหว่างการศึกษาเรื่องขนาดที่แท้จริงของฉลามเม็กกาโลดอน โดยใช้การวิเคราะห์เปรียบเทียบขนาดและรูปทรงฟันของฉลามเม็กกาโลดอน ซึ่งสูญพันธุ์ไปแล้ว กับฉลามที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบันในกลุ่มเดียวกันที่เรียกว่า “อันดับปลาฉลามขาว” (lamniform sharks) อาทิ ฉลามขาว (Carcharodon carcharias), ฉลามบาสกิน (Cetorhinus maximus), ฉลามเมกาเมาท์ (Megachasma pelagios) และฉลามมาโก (Isurus spp.) เป็นต้น

ทีมนักวิจัยพบว่า ฉลามเม็กกาโลดอน น่าจะมีลำตัวยาวประมาณ 50 ฟุต หรือกว่า 15 เมตร

ศาสตราจารย์เคนชู ชิมาดะ นักบรรพชีวินวิทยาจากมหาวิทยาลัยเดอโปล หัวหน้าทีมวิจัย ระบุว่า ผลการศึกษาครั้งนี้เผยให้เห็นชัดเจนว่าฉลามเม็กกาโลดอนมีขนาดใหญ่โตเพียงใด

ที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์คาดคะเนขนาดและรูปร่างของฉลามเม็กกาโลดอนโดยประเมินจากฟอสซิลฟันที่พบ ว่าน่าจะมีลำตัวยาวประมาณ 16-18 เมตร เท่ากับรถเมล์สองชั้นจำนวนสองคันต่อกัน และอาจมีน้ำหนักได้ถึง 100 ตัน

การที่โครงกระดูกของฉลามส่วนใหญ่เป็นกระดูกอ่อน ทำให้แทบไม่หลงเหลืออวัยวะที่แข็งพอจนสามารถกลายเป็นฟอสซิลหลงเหลือมาให้เราศึกษาได้ ด้วยเหตุนี้การคาดคะเนว่าเม็กกาโลดอนมีรูปร่างอย่างไรแน่จึงทำได้ยาก

นอกจากนี้ ศาสตราจารย์ชิมาดะ และคณะยังตั้งข้อสันนิษฐานถึงความเชื่อมโยงด้านปัจจัยทางชีวภาพของเม็กกาโลดอน ที่จัดอยู่ในกลุ่มของ “อันดับปลาฉลามขาว” กับพฤติกรรมที่มีลักษณะเฉพาะของตัวอ่อนฉลามชนิดนี้ที่เติบโตในมดลูกแม่ปลา

ทีมนักวิจัยชี้ว่า ปลาขนาดใหญ่ในอันดับปลาฉลามขาวมักมีระบบเผาผลาญพลังงานที่ทำให้ร่างกายอบอุ่นกว่าปลาทั่วไป ทำให้พวกมันว่ายน้ำได้ว่องไวกว่า และสามารถล่าเหยื่อที่ตัวใหญ่และให้พลังงานได้มากกว่า

Megalodon teeth
คำบรรยายภาพ,ฟันขนาดใหญ่ที่สุด 3 ซี่เป็นของเม็กกาโลดอน ส่วนที่เหลือเป็นของฉลามในยุคปัจจุบัน

นอกจากนี้ การที่ฉลามกลุ่มนี้มีระบบสืบพันธุ์แบบออกลูกเป็นตัวที่เรียกว่า ovoviviparity ซึ่งตัวอ่อนจะพัฒนาขึ้นภายในไข่ที่ยังคงอยู่ในร่างกายของแม่จนกว่าจะพร้อมฟักออกจากไข่แล้วจึงคลอดออกมาเป็นตัว แต่ในกรณีของปลาฉลามกลุ่มนี้มักพบว่าลูกปลาที่ฟักออกมาเป็นตัวแรกมักมีพฤติกรรมกินพวกเดียวกันเองภายในมดลูก (intrauterine cannibalism) โดยจะกินไข่ใบอื่นที่ยังไม่ฟัก หรือแม้แต่ตัวอ่อนที่ฟักออกมาในภายหลัง

ทีมนักวิจัยระบุว่า พฤติกรรมกินพวกเดียวกันทำให้ลูกปลาดังกล่าวมีขนาดใหญ่ตั้งแต่ยังไม่คลอดออกจากท้องแม่ และผลักดันให้แม่ปลาต้องกินอาหารเพิ่มขึ้นสำหรับลูกในท้องที่หิวโหย ส่งผลให้แม่มีขนาดใหญ่ขึ้น และเมื่อถึงเวลาที่ลูกปลาคลอดออกมาก็จะมีขนาดใหญ่จนสามารถปกป้องตัวเองจากสัตว์นักล่าชนิดอื่นได้

นักวิจัยบอกว่า พฤติกรรมดังกล่าวบวกกับสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม เช่น การอาศัยอยู่ในน้ำที่มีอุณหภูมิเหมาะสม และความอุดมสมบูรณ์ของอาหาร ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ปลาในอันดับปลาฉลามขาว เช่น เม็กกาโลดอน มีขนาดมหึมาได้

Leave a Reply