รู้จักกับ ‘เครื่องคิดเลขเชิงกล’ เครื่องคิดเลขไฟฟ้ายุคแรก ก่อนจะกลายมาเป็นแอปในมือถือของเรา

‘เครื่องคิดเลข’ ดูจะเป็นเครื่องทุ่นแรง ที่ช่วยเราในการคำนวณเลขทั้งอย่างง่าย อย่างบวก ลบ คูณ หาร และระดับที่ยากขึ้นไปอย่างเช่นแคลคูลัสได้ โดยที่เจ้าเครื่องคิดเลขนี้ เล็กถึงขนาดที่ว่าเราสามารถพกติดกระเป๋าไปเข้าคลาสวิศวะ หรือหากลองดูในสมาร์ตโฟนของเรา ก็จะเห็นแอปเครื่องคิดเลข ทั้งติดเครื่อง และหาโหลดได้ตามแอปสโตร์ทั่วไป แต่ใครจะคิดล่ะว่า สมัยก่อน เครื่องคิดเลขจะมีหน้าตาแบบนี้ !?

เครื่องคิดเลขเชิงกล Friden STW 10 ภาพโดย พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกันแห่งชาติ สมิธโซเนียน

เจ้า ‘เครื่องคิดเลขเชิงกล’ (Calculating Machine) เครื่องนี้คือ ‘Friden STW10’ เครื่องคิดเลขเชิงกลที่ใช้ไฟฟ้า ผลิตโดย Friden ผู้ผลิตเครืื่องพิมพ์ดีดชื่อดังในยุค 1950 (ปี 2493) แม้ว่าเครื่องคิดเลขนี้จะหน้าตาเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด และการทำงานคล้ายเครื่องพิมพ์ดีดมาก แต่ที่จริงแล้วไม่ใช่เลย โดยเครื่องคิดเลขนี้มีแคร่ที่เลื่อนได้ โดยจะแสดงผลเลขตามหลักที่คำนวณไว้ และจะค่อย ๆ ขยับไปทางขวาเมื่อแสดงผลตัวเลขที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

ตัวเลขที่อยู่ในแคร่นี้จะแบ่งออกเป็น 2 แถว โดยแถวบนสุดเป็นแถวเลขสะสม (Accumulator Row) ซึ่งใช้แสดงผลการคำนวณที่ยาวสูงสุดถึง 20 หลัก อีกแถวนึงที่อยู่ถัดลงมา เป็นหน้าปัดนับเลขขนาดเล็กที่ผู้ใช้งานสามารถใช้ปรับตัวเลขในตัวสะสมได้ด้วยตนเอง (Conter Register) โดยแถวนี้ปกติจะมีไว้เพื่อ ‘ปัดเศษ’ ซึ่งเป็นสิ่งที่เครื่องคิดเลขนี้ยังทำไม่ได้ และตรงมุมขวาสุดก็มีคันโยกเพื่อรีเซตตัวเลขที่แสดงอยู่บนหน้าปัดทั้ง 2 แถว

แคร่ของ Friden STW 10 โดยแถวบนสุดคือแถวเลขสะสม ถัดลงมาคือหน้าปัดสะสมเลข และทางขวามือคือคันโยกเพื่อรีเซตตัวเลขบนหน้าปัด ภาพโดย Linus Tech Tips

ถัดลงมาใต้แคร่เลื่อนตัวเลข จะมีปุ่มตัวเลขอีกจำนวนมากทั้งฝั่งซ้ายที่มีตัวเลข 0 – 9 ที่มีไว้ใช้เพื่อคูณเลขเท่านั้น (Multiplication Register) และแผงตัวเลขคีย์บอร์ดหลัก (Main Keyboard) ที่เยอะจนตาลาย ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นแผงที่ไว้กดตัวเลขหลักนั้นต่างหากล่ะ นอกจากนั้นยังมีปุ่มเพื่อล็อกแถวบางแถว ปุ่ม + และ – เพื่อใช้คิดเลขบวกและลบ หรือนับจำนวน – ลดจำนวนออกได้ และยังมีปุ่มฟังก์ชันอื่น ๆ อีก

แล้วเครื่องคิดเลขนี้มันใช้ยังไงกันล่ะ ก็ไม่ยากเท่าไหร่เลย หากจะบวกหรือลบเลข ให้กดเลขตามหลักที่เราต้องการ โดยกดที่คีย์บอร์ดหลักด้านขวาจนครบทุกหลัก จากนั้นกด + เพื่อให้เลขถูกบันทึกเข้าไปในแถวเลขสะสม จากนั้นให้กดเลขที่ต้องหารจะบวกเข้า หรือลบออก โดยกดเลขทีละหลักเหมือนเดิม แล้วค่อยกด + หรือ – ตามที่ต้องการ เลขจะทำการคำนวณ แล้วผลจะออกมาในแถวเลขสะสมเหมือนเดิม

ถ้าจะหาร ให้กดเลขตั้งต้นที่ต้องการจะหาร แล้วกดที่ปุ่ม ‘Enter DVD’ จากนั้นให้กดเลขที่ต้องการหาร แล้วกดปุ่มหารทั้ง 2 ตัวบนเครื่อง ตัวเลขผลการหารจะออกมาตรงหน้าปัดนับเลขที่อยู่ถัดลงมา

และถ้าจะคูณ ให้กดตัวที่จะถูกคูณที่ปุ่มเลขฝั่งซ้าย แล้วกดเลขที่เป็นตัวตั้งต้นที่จะคูณในคีย์บอร์ดหลักด้านขวา จากนั้นก็กดปุ่ม ‘MULT’ แค่นั้นก็เรียบร้อยแล้ว ง่ายนิดเดียว ถ้ายังไม่เห็นภาพ ลองดูคลิปวิดีโอนี้ประกอบก็ได้นะ

เครื่องคิดเลขเชิงกลไฟฟ้านี้เป็นเครื่องคิดเลขที่ทันสมัยมาก ๆ ในขณะนั้น ผู้คนต่างซื้อมาเพื่อใช้ในการคิดเลข ในธุรกิจหรืออุตสาหกรรมที่ต้องมีการคิดเลขอยู่ตลอด อย่างเช่นแผนกบัญชี หรือบริษัทประกัน จนกระทั่งถูกเลิกผลิตไปในปี 1966 เนื่องจาก Friden เจ้าเดิม ได้ออกเครื่องคิดเลข ‘Friden EC-130’ ซึ่งเป็นเครื่องคิดเลขที่ใช้ทรานซิสเตอร์ตัวแรกของโลกขึ้น ซึ่งทั้งวิธีการทำงาน (ที่ไม่ต้องรอเครื่องคิดเลขหมุนจักรจนแสดงผลลัพธ์ออกมา) และวิธีใช้งานง่ายกว่ารุ่นเดิมอย่างมาก (เหมือนเครื่องคิดเลขในปัจจุบัน)

หลังจากนั้นมา คนก็สนใจเครื่องจักรคิดเลขนี้น้อยลง จนเริ่มเลือนหายไปหลังจากการเข้ามาของ ‘เครื่องคิดเลขพกพา’ ในยุค 1970 (ประมาณปี 2513) แล้วค่อย ๆ กลายมาเป็นเครื่องคิดเลขพกพาแบบที่เราเห็นกัน จนนำไปสู่ ‘แอป’ เครื่องคิดเลขที่ติดสมาร์ตโฟนของเราทุกวันนี้

Friden EC-130 ที่สามารถบวก ลบ คูณ และหารได้โดยง่าย ภาพโดย Vintagecalculators

แม้ว่าเครื่องคิดเลขเชิงกลนี้จะเป็นเครื่องคิดเลขที่ดูเก่า และเทอะทะมาก ด้วยน้ำหนักที่มากถึง 19 กิโลกรัม แต่ที่จริงแล้ว เจ้า Friden STW-10 นี้ได้สร้างตำนานเอาไว้เช่นเดียวกัน โดยเครื่องคิดเลขนี้ เป็นเครื่องคิดเลขที่ แคทเธอรีน จอห์นสัน (Katherine Johnson) นักคณิตศาสตร์คนสำคัญขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติสหรัฐฯ (NASA) ซึ่งได้ทำการคำนวณกลไกการโคจรที่สำคัญอย่างยิ่งต่อความสำเร็จของยานอวกาศลำแรกและรุ่นต่อ ๆ มาของสหรัฐฯ ใช้ในการคำนวณตัวเลขคูณ และหารที่ซับซ้อนโดยร่นระยะเวลาลง ในปี 2500 จนเหมือนกับว่าเธอเป็นคอมพิวเตอร์ซะเองเลย

เรื่องราวของเธออาจจะคุ้นหูใครบางคนบ้างอย่างแน่นอน เพราะเธอคือตัวละครเอกในภาพยนตร์ชีวประวัติ-ดราม่าเรื่อง “Hidden Figures” หรือชื่อไทยว่า “ทีมเงาอัจฉริยะ” นั่นเอง

แคทเธอรีน จอห์นสัน ขณะที่กำลังคำนวณเลข โดยใช้ Friden STW-10 ประกอบการคำนวณ ในปี 1962 ภาพโดย NASA

เรื่องทั้งหมดนี้แสดงให้เห็นถึงความพยายามของมนุษย์ ที่พยายามจะพัฒนาวิทยาการทั้งในทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ เจ้าเครื่องคิดเลขเชิงกล Friden STW-10 นี้ก็เป็นหลักฐานในความทะเยอทะยาน บรูทฟอร์ซ (Brute Force) วิธีการคำนวณโดยใช้เครื่องจักร เพื่อทุ่นแรงและสมองของมนุษย์ให้ได้มากขึ้น จนเกิดการพัฒนา กลายมาเป็นเครื่องคิดเลขที่อยู่ในสมาร์ตโฟนของทุกคนแบบนี้ได้

อ้างอิง

ขอบคุณภาพประกอบบทความจาก พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์อเมริกันแห่งชาติ สมิธโซเนียน
Linus Tech Tips
Oldcalculatormuseum
NASA

Leave a Reply