ล้วงลึก ‘โอมูอามูอา’ ดาวเคราะห์น้อยหรือยานต่างดาวกันแน่!

ข้อถกเถียงที่ 2 – ไฮโดรเจนคือเรื่องเพ้อฝัน

เมื่อวันที่ 17 สิงหาคมที่ผ่านมา เลิบและหวง ได้ถกเถียงประเด็นนี้ผ่านบทความใน The Astrophysical Journal Letters ว่า สมมติฐานเรื่องไฮโดรเจนไม่สามารถทำงานได้ในความจริง

พวกเขากล่าวว่า การก่อตัวเป็นแท่งไฮโดรเจนแข็งยังมีความคล้ายคลึงกับการแข็งตัวของก้อนน้ำแข็งที่ต้องผ่านช่องแข็งที่เย็นจัด ทว่าในแหล่งกำเนิดของมัน ที่เป็นกลุ่มเมฆโมเลกุล (Molecular cloud) การก่อตัวกันเป็นรูปร่างต้องอาศัยการชนกันของฝุ่นละอองและก๊าซที่ทำให้สสารเกาะตัวเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้เกิดความร้อนมหาศาล จนแกนกลางของโอมูอามูอาที่เป็นไฮโดรเจนน่าจะระเหิดหายไปก่อนแล้ว

และถ้าหากมันบังเอิญก่อตัวขึ้นมาได้ ไฮโดรเจนก็ยังระเหิดและละลายได้รวดเร็วมาก แค่สัมผัสความร้อนเพียงไม่นาน อย่างแสงดาวธรรมดาที่พบได้ทั่วไปในอวกาศ ก็สามารถละลายแท่งโฮโดรเจนนี้ได้ง่ายมาก หากโอมูอามูอาเป็นดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนแข็ง ระหว่างการเดินทางอันยาวนานจากนอกระบบสุริยะก็น่าจะทำให้มันสลายตัวไปได้เช่นกัน 

เซลิกแมนยอมรับว่า การวิเคราะห์ของเลิบนั้นถูกต้อง

“ภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนอยู่ในกาแล็กซีไม่ได้นานขนาดนั้น และการเดินจากเมฆโมเลกุลยักษ์ที่ใกล้ที่สุด ก็ยังยาวนานเกินไป ทฤษฎีนี้ใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อโอมูอามูอามีอายุเพียง 40 ล้านปีเท่านั้น”

ADVERTISEMENT

ข้อสรุปที่ 3 – ถูกทั้งหมดนั่นแหละ แต่เปลี่ยนจุดกำเนิดแทน

อย่างไรก็ตาม งานวิจัยของเซลิกแมน ก็ยังไม่ถึงกับเป็นไปไม่ได้เลยทีเดียว เมื่อมีนักวิจัยเจ้าของผลงานอีกชิ้นหนึ่ง อธิบายถึงความเป็นไปได้ในอีกรูปแบบ 

ทิม ฮาลัต (Tim Hallatt) นักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ และนักศึกษาปริญญาโท จากมหาวิทยาลัย (McGill University) ในมอนทรีอัล และผู้เขียนงานวิจัยที่ตีพิมพ์เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมากล่าวว่า เขาศึกษาพื้นที่ของกลุ่มดาวอายุน้อยสองกลุ่มคือ กลุ่มดาวกระดูกงูเรือหรือคารินา (Carina) และ กลุ่มดาวนกเขาหรือโคลัมบา (Columba) ที่ซึ่งก่อตัวเมื่อ 30-45 ล้านปีก่อน ในกลุ่มเมฆก๊าซที่สลายตัวไปแล้ว อันเป็นสถานที่ซึ่งภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนสามารถก่อตัวได้

“มันมีกระบวนการมากมายที่สามารถขับเคลื่อนวัตถุอย่างโอมูอามูอา ออกจากกลุ่มดาวฤกษ์อายุน้อยนั่น เช่น การเปลี่ยนแปลงของแรงโน้มถ่วงระหว่างดวงดาว และกลุ่มเมฆโมเลกุลในนั้นก็สามารถสร้างวัตถุนี้ขึ้นมาได้ และหากจุดกำเนิดของโอมูอามูอาอยู่ในสองกลุ่มดาวดังกล่าว ก็มีความเป็นไปได้ที่ดาวเคราะห์น้อยจะก่อตัวด้วยไฮโดรเจน และรอดมาถึงระบบสุริยะของเรา”

ภาพของฝุ่นควันและแก๊สภายในเนบิวลาคารินา (Great Carina Nebula)
ซึ่งเป็นหนึ่งในพื้นที่ให้กำเนิดดาวที่ใหญ่ที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก  
Credit & Copyright: Ignacio Diaz Bobillo/ apod.nasa.gov

สรุปแบบไม่สรุป

อย่างไรก็ตามเลิบไม่เห็นด้วยกับความคิดนี้ เพราะแม้ว่าระยะทางจะสั้นลง แต่การก่อตัวของภูเขาน้ำแข็งก็ต้องเกิดขึ้นจากดาวแม่ที่กำลังก่อตัวอยู่นี้ ซึ่งขั้นตอนนี้กินเวลาเป็นพันล้านปี

เลิบกล่าวว่า เขาคาดว่าภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนจะมาจากเมฆโมเลกุลขนาดยักษ์ ไม่ใช่จาก Carina หรือ Columba และย้ำว่าไม่มีภูเขาน้ำแข็งไฮโดรเจนใดสามารถรอดจากการเดินทางจากเมฆโมเลกุลยักษ์ที่ใกล้ที่สุดได้ 

สำหรับปัจจัยใดที่น่าจะเป็นตัวขับเคลื่อนดาวเคราะห์น้อยดวงนี้ เลิบกล่าวว่าเขากำลังเขียนถึงประเด็นดังกล่าวในหนังสือชื่อ “Extraterrestrial: The First Sign of Intelligent Life Beyond Earth” (สิ่งมีชีวิตนอกโลก: สัญญาณแรกของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญานอกโลก) ซึ่งจะตีพิมพ์ในเดือนมกราคมปีหน้า

แม้เราจะยังไม่แน่ชัดว่าคำตอบเป็นเช่นไร แต่ที่แน่ ๆ ตอนนี้ดาวเคราะห์น้อยนี้ก็เดินทางผ่านโลกของเราและกำลังเคลื่อนออกจากระบบสุริยะแล้ว โดยมุ่งหน้าไปเยือนกลุ่มดาวม้าบิน (Constellation Pegasus) เป็นรายต่อไป

นอกจากโอมูอามูอา นักวิทยาศาสตร์นาซากล่าวว่า อาจจะมีวัตถุเช่นนี้ผ่านเข้ามาในระบบสุริยะของเราปีละครั้ง และด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยขึ้นทุกทีอย่างกล้องโทรทรรศน์ Pan-STARRS1 ก็อาจช่วยในเราพบวัตถุประหลาดน่าสงสัยเพิ่มขึ้นในอนาคต

‘โอมูอามูอา’ จึงเป็นเพียงปริศนาอีกอย่างหนึ่งจากห้วงอวกาศที่เราให้เราไขคำตอบ และจากไปนี้คงมีเรื่องราวน่าติดตามอีกหลายอย่างจากอวกาศมาให้เราได้ฉงนกันต่อไปเรื่อย ๆ เตรียมอ่านและศึกษากันได้อีกเยอะเลยทีเดียว

Leave a Reply