สัญญาณวิทยุประหลาดจาก “พร็อกซิมา เซนทอรี” ดาวฤกษ์ที่ใกล้ระบบสุริยะมากที่สุด อาจเป็นของเอเลียน

กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes Telescope) ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย
กล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ (Parkes Telescope) ที่รัฐนิวเซาท์เวลส์ของออสเตรเลีย

แหล่งข่าวในแวดวงดาราศาสตร์เปิดเผยกับหนังสือพิมพ์เดอะการ์เดียนว่า ขณะนี้นักวิทยาศาสตร์ในโครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวหรือเซติ (SETI)กำลังตรวจสอบที่มาของสัญญาณวิทยุประหลาดจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งพวกเขาตรวจจับได้เมื่อปีที่แล้ว โดยมีความเป็นไปได้ว่ามันคือสัญญาณจากเทคโนโลยีของเอเลียน ที่อาศัยอยู่บนดาวเคราะห์บริวารดวงใดดวงหนึ่งของ “พร็อกซิมา เซนทอรี” ดาวฤกษ์เพื่อนบ้านที่อยู่ใกล้กับระบบสุริยะของเรามากที่สุด

สัญญาณประหลาดดังกล่าวเป็นคลื่นวิทยุที่ส่งออกมาเป็นลำแคบ ๆ ด้วยความถี่ 980 เมกะเฮิร์ตซ์ ในทิศทางที่ตรงกับตำแหน่งของพร็อกซิมา เซนทอรีพอดี ซึ่งดาวฤกษ์ดวงนี้เป็นดาวแคระแดงที่อยู่ห่างจากโลกเพียง 4.2 ปีแสง

ผลการตรวจสอบเบื้องต้นชี้ว่า สัญญาณนี้ไม่ได้มาจากดาวเทียมหรือเทคโนโลยีที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีความเคลื่อนไหวในลักษณะที่สอดคล้องกับการโคจรของดาวเคราะห์อีกด้วย ทำให้น่าสงสัยว่าอาจเป็นสัญญาณที่ส่งมาจากพื้นผิวของดาวเคราะห์พร็อกซิมา บี (Proxima b) บริวารของพร็อกซิมา เซนทอรี ที่เคยเชื่อกันว่ามีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตมากที่สุด

ภาพจำลองดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซนทอรี (จุดสีส้มซ้ายมือ) กับดาวเคราะห์บริวาร พร็อกซิมา บี (ขวา)
ภาพจำลองดาวฤกษ์พร็อกซิมา เซนทอรี (จุดสีส้มซ้ายมือ) กับดาวเคราะห์บริวาร พร็อกซิมา บี (ขวา)

นักวิทยาศาสตร์ในโครงการ Breakthrough Listen ของเซติ ซึ่งกำลังศึกษาเรื่องดังกล่าว ตั้งชื่อลำคลื่นวิทยุนี้ว่า BLC1 และชี้ว่านี่คือสัญญาณจากนอกโลกสัญญาณแรกในรอบกว่า 40 ปี ที่มีความเป็นไปได้อย่างยิ่งว่าจะเป็นของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว

แหล่งข่าวยังระบุว่า สัญญาณวิทยุจากพร็อกซิมา เซนทอรี มีความสำคัญเทียบเท่ากับสัญญาณ “ว้าว!” (Wow! Signal) จากกลุ่มดาวคนถือธนูที่ตรวจพบเมื่อปี 1977 ซึ่งจัดว่ามีความเป็นไปได้สูงสุดในประวัติศาสตร์ที่จะเป็นการสื่อสารจากเอเลียน

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญหลายรายยังไม่ปักใจเชื่อว่าสัญญาณประหลาดที่ตรวจจับได้ล่าสุดนี้จะเป็นของมนุษย์ต่างดาว โดยแหล่งข่าวของนิตยสาร Scientific American ระบุว่า สัญญาณ BLC1 นั้นดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อมูลที่ใช้สื่อความหมายใด ๆ แฝงอยู่ และอาจเป็นเพียงสัญญาณวิทยุที่มาจากยานอวกาศของมนุษย์

ส่วนโอกาสที่ดาวเคราะห์พร็อกซิมา บี จะเป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตนั้น ข้อมูลจากการศึกษาใหม่ล่าสุดชี้ว่าไม่อาจเป็นไปได้ เพราะไม่มีบรรยากาศและพื้นผิวมีอุณหภูมิร้อนแรง เนื่องจากอยู่ใกล้ดาวฤกษ์มากเกินไป

ศาสตราจารย์ลูอิส ดาร์ตเนลล์ นักชีวดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเวสต์มินสเตอร์ของสหราชอาณาจักรให้ความเห็นว่า “โอกาสที่สัญญาณนี้จะไม่ใช่ของมนุษย์ต่างดาวมีสูงมาก เราค้นหาเอเลียนมานานมากแล้ว แต่การที่กลับมาเจออยู่ตรงหน้าประตูบ้าน ในระบบสุริยะที่อยู่ติดกันนี้ ยิ่งทวีความเป็นไปไม่ได้ให้เพิ่มสูงกว่าเดิมขึ้นไปอีก”

“โอกาสที่ 2 อารยธรรมจะเกิดขึ้นในกาแล็กซีเดียวกัน ซึ่งมีดาวฤกษ์อยู่มหาศาลถึง 4 แสนล้านดวง แล้วยังมาอยู่ใกล้ชิดเป็นเพื่อนบ้านกันอีก มันไม่สมเหตุสมผลอย่างสิ้นเชิง” ศ. ดาร์ตเนลล์กล่าว

Leave a Reply