สารพันเรื่องราวน่าพิศวงของ “เอเลียน” และความคืบหน้าของการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวในปี 2021

ข่าวคราวความเคลื่อนไหวเกี่ยวกับปรากฏการณ์ประหลาดอย่างจานบินหรือยูเอฟโอ, สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาจากนอกโลก, หรือแม้แต่จุลชีพตัวจิ๋วที่อาจอยู่ในมหาสมุทรหรือชั้นบรรยากาศของต่างดาว ล้วนเป็นเรื่องราวที่ผู้คนทั่วโลกให้ความสนใจติดตามกันมาโดยตลอด แต่ในปี 2021 ข่าวคราวเกี่ยวกับการค้นหาความจริงในเรื่องเหล่านี้ออกจะน่าผิดหวังอยู่ไม่น้อย

เริ่มจากเมื่อเดือนมิถุนายนของปีที่แล้ว กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ เปิดเผยรายงานการพบเห็นยูเอฟโอ 144 ครั้ง ระหว่างปี 2004-2021 โดยยืนยันว่าทั้งหมดเป็นการพบเห็นวัตถุของจริงไม่ใช่ภาพลวงตา แต่ก็ไม่มีครั้งใดเลยที่มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกับยานบินของมนุษย์ต่างดาว

ส่วนกล้องโทรทรรศน์วิทยุอาเรซิโบ ซึ่งตั้งอยู่ที่เปอร์โตริโกและเป็นอุปกรณ์หลักในการค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาวขององค์กร “เซติ” (SETI) อันโด่งดังนั้น เกิดความเสียหายอย่างหนักจนไม่อาจซ่อมแซมได้ และถึงขั้นต้องทุบทิ้งหลังจากใช้งานมานานหลายสิบปี แต่อุปสรรคเหล่านี้ก็ไม่สามารถจะขัดขวางความก้าวหน้าใหม่ ๆ ทางดาราศาสตร์ที่น่าตื่นเต้นในปี 2021 ซึ่งอาจนำเราไปสู่การค้นพบเอเลียนตัวจริงได้ในอนาคต

เอเลียนอาจติดตั้งโครงสร้างยักษ์ดึงพลังงานจากหลุมดำ

รูป

ทีมนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงฮวาของไต้หวัน ได้เสนอวิธีการใหม่ที่อาจช่วยให้พบร่องรอยของเอเลียนที่มีอารยธรรมและเทคโนโลยีในระดับสูง ผ่านการมองหาโครงสร้างยักษ์ “ไดสันสเฟียร์” (Dyson sphere) ที่เอเลียนอาจสร้างไว้รอบหลุมดำเพื่อเก็บเกี่ยวพลังงานมหาศาลไปใช้

พวกเขาตั้งสมมติฐานว่า มนุษย์ต่างดาวที่มีอารยธรรมและความก้าวหน้าของเทคโนโลยีระดับสูง น่าจะติดตั้งโครงสร้างยักษ์แบบไดสันสเฟียร์รอบแหล่งพลังงานต่าง ๆ ในจักรวาล โดยอารยธรรมต่างดาวที่อยู่ในระดับสูงมาก ก็อาจต้องการพลังงานมากกว่าที่ได้จากดาวฤกษ์ของตนเอง ซึ่งทำให้หลุมดำเป็นเป้าหมายที่น่าสนใจในการค้นหาร่องรอยของเอเลียน

การที่หลุมดำปลดปล่อยพลังงานมหาศาลเป็นครั้งคราว ทั้งแสงสว่างและความร้อนหลายล้านองศาเซลเซียสจากจานพอกพูนมวล รวมทั้งการปะทุไอพ่นเป็นลำไอออนความเร็วสูงเกือบเท่าแสง ทำให้มนุษย์สามารถตรวจพบรังสีอินฟราเรดที่มีเอกลักษณ์พิเศษได้ หากเอเลียนมาสร้างไดสันสเฟียร์เพื่อเก็บเกี่ยวและแปลงพลังงานจากหลุมดำไปใช้จริง

ดาวเคราะห์ทำเลดีที่สุด 29 ดวง ที่เอเลียนอาจใช้สังเกตการณ์โลก

รูป

ในเมื่อมนุษย์มุ่งค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว แล้วพวกเขาจะกำลังจับจ้องเฝ้ามองโลกของเราอยู่เหมือนกันไหม ? เพื่อไขคำตอบในเรื่องนี้ ทีมนักดาราศาสตร์จากหลายสถาบันของสหรัฐฯ ได้ลงมือวิเคราะห์ฐานข้อมูลดวงดาวจำนวนมหาศาลที่มีอยู่ในปัจจุบัน และผลปรากฏว่ามี “ทำเลทอง” ที่ใช้แอบมองโลกได้ชัดเจน อยู่บนดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะถึง 29 ดวง

ดาวเคราะห์ที่มีสภาพเอื้อต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตเหล่านี้ นับว่าอยู่ในตำแหน่งเหมาะเจาะที่สุดสำหรับการดักฟังสัญญาณวิทยุจากโลก รวมทั้งเหมาะสมต่อการเฝ้าสังเกตปรากฏการณ์ “ทรานซิต” (transit) ขณะโลกโคจรผ่านหน้าดวงอาทิตย์ได้ชัดเจนที่สุดโดยไม่มีสิ่งใดมากีดขวาง ซึ่งปรากฏการณ์นี้จะทำให้สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวได้รับรู้ถึงการมีอยู่ของดาวเคราะห์โลก รวมทั้งทราบถึงข้อมูลอื่น ๆ เช่นองค์ประกอบของชั้นบรรยากาศ แร่ธาตุ และร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนโลก

ตัวอย่างของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะที่อยู่ในทำเลทองสำหรับการเฝ้าจับตาดูโลกของเรา หนึ่งในนั้นคือดาวเคราะห์คล้ายโลกในระบบดาวแคระแดง Ross 128 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มดาวสาวพรหมจารี (Virgo) ที่อยู่ห่างจากโลกเพียง 11 ปีแสง

ดาวเคราะห์แบบใหม่ที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตได้

รายงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal เมื่อเดือนสิงหาคมของปีที่ผ่านมา พบว่าอาจมีดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะอยู่อีกประเภทหนึ่ง ซึ่งสามารถจะเรียกได้ว่าดาว Hycean เพราะมีแหล่งน้ำเป็นมหาสมุทรกว้างใหญ่ และมีไฮโดรเจนเป็นองค์ประกอบหลักของชั้นบรรยากาศ

สภาพแวดล้อมของดาว Hycean นับว่าคล้ายคลึงกับปล่องน้ำร้อนที่บริเวณก้นมหาสมุทรของโลกอย่างมาก ซึ่งสภาพแวดล้อมแบบสุดขั้วเช่นนี้ ก็ยังสามารถเป็นแหล่งกำเนิดและที่อยู่อาศัยของจุลชีพบางชนิดบนโลกได้ ทำให้น่าสงสัยว่าอาจมีสิ่งมีชีวิตที่คล้ายคลึงกันอยู่บนดาวเคราะห์แบบ Hycean ซึ่งน่าจะมีอยู่เป็นจำนวนมากในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ลุ้นพบสิ่งมีชีวิตบนดวงจันทร์เอนเซลาดัสของดาวเสาร์

รูป

ก๊าซมีเทนที่พบในไอน้ำร้อน ซึ่งพวยพุ่งขึ้นมาจากมหาสมุทรใต้ผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้ของดวงจันทร์เอนเซลาดัส (Enceladus) ของดาวเสาร์ อาจเป็นร่องรอยบ่งชี้ถึงการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตได้

ผลการตรวจสอบตัวอย่างละอองน้ำ ซึ่งยานแคสสินีขององค์การนาซาสามารถเก็บมาได้จากห้วงอวกาศเหนือขั้วใต้ของเอนเซลาดัสเมื่อหลายปีก่อน พบว่ามีก๊าซมีเทนปะปนอยู่ในปริมาณที่เชื่อได้ว่าน่าจะเป็นผลผลิตของสิ่งมีชีวิต

ทีมวิจัยของนาซาได้นำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบกับแบบจำลองคอมพิวเตอร์อีกครั้ง จนพบว่ามีความเป็นไปได้ที่จุลชีพต่างดาวในมหาสมุทรของเอนเซลาดัสอาจกินแร่ธาตุอย่างไดไฮโดรเจน (Dihydrogen) เข้าไป แล้วขับถ่ายหรือ “ผายลม” ออกมาเป็นก๊าซมีเทน

สัญญาณจากดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้โลกที่สุด ไม่ใช่เทคโนโลยีของเอเลียน

รูป

ทีมนักฟิสิกส์ดาราศาสตร์ของโครงการ Breakthrough Listen แถลงผลการตรวจสอบครั้งที่ 2 ของสัญญาณวิทยุปริศนา BLC1 ซึ่งถูกส่งมาจาก “พร็อกซิมา เซนทอรี” (Proxima Centauri) ดาวฤกษ์และระบบดาวเคราะห์ที่อยู่ใกล้กับโลกของเรามากที่สุด โดยครั้งนี้กลับพบว่า สัญญาณดังกล่าวไม่มีเอกลักษณ์บ่งชี้ถึงการเป็นผลผลิตของเทคโนโลยีต่างดาวแต่อย่างใด

ข้อมูลล่าสุดจากกล้องโทรทรรศน์วิทยุพาร์กส์ในออสเตรเลียชี้ว่า พบสัญญาณที่เหมือนกับ BLC1 แต่สามารถชี้ชัดได้ว่าเป็นสัญญาณแทรกสอดรบกวนจากบนโลกของเรานี่เอง โดยในภายหลังพบว่าเป็นสัญญาณจากคอมพิวเตอร์หรือเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ในบริเวณใกล้เคียงซึ่งทำงานผิดพลาด

ประสบการณ์ถูกเอเลียนลักพาอาจเป็นความฝันแบบรู้ตัวบางส่วน

รูป

เรื่องประหลาดเรื่องหนึ่งที่เล่าขานกันมานานจากปากคำของผู้คนจำนวนไม่น้อยทั่วโลก ก็คือประสบการณ์ถูกเอเลียนลักพาตัวไปพูดคุยด้วย หรือถูกนำไปทำการทดลองทางวิทยาศาสตร์

แต่ในปี 2021 ศูนย์วิจัย PRC ของรัสเซียได้ทำการทดลองซึ่งสามารถพิสูจน์ได้ว่า ประสบการณ์ถูกเอเลียนลักพาตัวนั้นที่แท้ก็คือการฝันแบบรู้ตัวว่าฝันอยู่ (lucid dream) มากกว่าจะเป็นการเผชิญหน้ากับมนุษย์ต่างดาวของจริง

ทีมผู้วิจัยอธิบายว่า ความรู้สึกหวาดกลัวสุดขีดและการเป็นอัมพาตชั่วคราวขณะฝันถึงเอเลียนนั้นรุนแรงมาก จนทำให้เส้นแบ่งระหว่างความฝันและความเป็นจริงเลือนหายไป แต่สำหรับคนกลุ่มนี้แล้ว ประสบการณ์ถูกเอเลียนลักพาตัวนั้นเป็นเรื่องจริงอย่างแน่นอน เพียงแค่พวกเขาไม่รู้จะอธิบายออกมาให้ผู้อื่นเชื่อได้อย่างไรเท่านั้น

Leave a Reply