หลักฐานใหม่ชี้ดาวเคราะห์น้อย “โอมูอามูอา” ยังน่าสงสัยว่าเป็นยานต่างดาว

ลักษณะการหมุนอย่างไร้ระเบียบของโอมูอามูอา ชี้ว่ามันเคยชนกับวัตถุอื่นมาก่อน
ลักษณะการหมุนอย่างไร้ระเบียบของโอมูอามูอา ชี้ว่ามันเคยชนกับวัตถุอื่นมาก่อน

ดาวเคราะห์น้อยประหลาดโอมูอามูอา (Oumuamua) ซึ่งได้เดินทางผ่านเข้ามาใกล้โลกและสร้างความฮือฮาในช่วงปลายปี 2017 ยังคงเป็นปริศนาที่นักดาราศาสตร์ถกเถียงกันไม่จบสิ้นว่ามันคืออะไรกันแน่

ล่าสุดนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดและสถาบัน KASI ของเกาหลีใต้เผยผลการศึกษาที่ชี้ว่า ยังคงมีความเป็นไปได้ที่โอมูอามูอาอาจเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่สร้างขึ้นด้วยเทคโนโลยีต่างดาว แม้ก่อนหน้านี้จะมีงานวิจัยที่สันนิษฐานว่ามันเป็นเพียงแท่งไฮโดรเจนแข็งธรรมดา ซึ่งการระเหิดเป็นไอทำให้ก๊าซไฮโดรเจนบริสุทธิ์ออกมาขับเคลื่อนให้มันพุ่งทะยานได้อย่างรวดเร็วผิดปกติ ทั้งเร่งความเร็วขึ้นเองได้ในบางช่วงด้วย

อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Astrophysical Journal Letters ฉบับล่าสุด คัดค้านข้อสันนิษฐานข้างต้นโดยชี้ว่า หากโอมูอามูอาเป็นเพียงดาวเคราะห์น้อยที่มีองค์ประกอบหลักเป็นไฮโดรเจนแข็งแล้ว มันก็น่าจะสลายตัวไปจนหมดก่อนหน้านี้ ระหว่างการเดินทางที่แสนไกลมาจากนอกระบบสุริยะ ซึ่งกินเวลานานหลายร้อยล้านปี เนื่องจากไฮโดรเจนแข็งนั้นระเหิดกลายเป็นไอได้ง่ายและรวดเร็วมาก

นอกจากนี้ วัตถุอวกาศที่เป็นแท่งไฮโดรเจนแข็งยาวหลายร้อยเมตร ไม่น่าจะก่อตัวขึ้นได้ในแหล่งกำเนิดที่เป็นกลุ่มเมฆโมเลกุล (molecular cloud) เพราะต้องอาศัยการชนกันของฝุ่นละอองและก๊าซที่ทำให้สสารเกาะตัวเป็นก้อนใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ แต่การชนกันของอนุภาคในกลุ่มก๊าซความหนาแน่นสูงจะทำให้เกิดความร้อนมหาศาล จนแกนกลางของวัตถุที่กำลังก่อตัวนั้นระเหิดหายไปเสียก่อนได้

ภาพจำลองของโอมูอามูอา ซึ่งมีรูปทรงผิดแปลกจากดาวเคราะห์น้อยที่พบได้ทั่วไป
ภาพจำลองของโอมูอามูอา ซึ่งมีรูปทรงผิดแปลกจากดาวเคราะห์น้อยที่พบได้ทั่วไป

ชื่อของโอมูอามูอาเป็นภาษาฮาวาย มีความหมายว่า “ผู้ส่งสารจากแดนไกลที่มาถึงเป็นคนแรก” เนื่องจากเป็นวัตถุอวกาศชิ้นแรกที่ล่องลอยมาจากนอกระบบสุริยะที่ห่างไกล ซึ่งนักดาราศาสตร์ตรวจพบเมื่อวันที่ 19 ต.ค. 2017

รูปทรงที่ยาวรีคล้ายมวนซิการ์ออกจะผิดแปลกไปจากดาวเคราะห์น้อยที่พบได้ทั่วไป ทำให้มีบางคนสันนิษฐานว่า ที่จริงแล้วโอมูอามูอาไม่ใช่วัตถุที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นยานอวกาศของสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว

เคยมีนักวิทยาศาสตร์บางคนเสนอว่า รูปทรงยาวรีคล้ายซิการ์หรือเข็ม มีความเหมาะสมในการใช้สร้างยานท่องอวกาศมากที่สุด เพราะช่วยลดแรงเสียดทานและความเสียหายจากฝุ่นละอองหรือกลุ่มก๊าซในอวกาศได้อย่างมาก

อย่างไรก็ตาม ผลสำรวจเบื้องต้นด้วยกล้องโทรทรรศน์วิทยุในโครงการ Breakthrough Listen ยังไม่พบร่องรอยของสิ่งมีชีวิตหรือเทคโนโลยีล้ำสมัยใด ๆ บนโอมูอามูอา

เวรา รูบิน เป็นนักดาราศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยการตั้งชื่อกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ตามชื่อของเธอ
เวรา รูบิน เป็นนักดาราศาสตร์หญิงคนแรกที่ได้รับการเชิดชูเกียรติด้วยการตั้งชื่อกล้องโทรทรรศน์ขนาดใหญ่ตามชื่อของเธอ

ทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดหวังว่า จะสามารถค้นหาดาวเคราะห์น้อยที่มีลักษณะคล้ายโอมูอามูอาได้อีกมาก หลังมีการเปิดใช้งานหอสังเกตการณ์ดาราศาสตร์ เวรา ซี. รูบิน (Vera C. Rubin Observatory) ที่ประเทศชิลีในปีหน้า โดยหอสังเกตการณ์นี้ตั้งชื่อตามนักดาราศาสตร์หญิงชาวอเมริกันผู้ล่วงลับ โดยเธอเป็นผู้ค้นพบปรากฏการณ์พิเศษของดวงดาวที่นำไปสู่การก่อตั้งทฤษฎีสสารมืด

หอสังเกตการณ์ดังกล่าวจะมีกล้องโทรทรรศน์ LSST ที่มีประสิทธิภาพสูง ช่วยให้มองเห็นวัตถุที่เล็ก มืดมัว และอยู่ห่างไกลแบบเดียวกับโอมูอามูอาได้มากขึ้น โดยน่าจะมีการค้นพบใหม่อย่างน้อยเดือนละ 1 ชิ้น ซึ่งนักดาราศาสตร์คาดว่ามีวัตถุอวกาศเช่นนี้ผ่านเข้ามาในวงโคจรระหว่างดวงอาทิตย์และดาวเนปจูนกว่า 10,000 ชิ้น

Leave a Reply