“หลุมดำดาวฤกษ์” มวลมากที่สุดในกาแล็กซีทางช้างเผือก หยุดส่องสว่างโดยไม่ทราบสาเหตุ

ภาพจากฝีมือศิลปิน จำลองเหตุการณ์ที่หลุมดำกลืนกินก๊าซปริมาณมหาศาลจากดาวฤกษ์
ภาพจากฝีมือศิลปิน จำลองเหตุการณ์ที่หลุมดำกลืนกินก๊าซปริมาณมหาศาลจากดาวฤกษ์

ระบบดาวคู่ GRS 1915+105 ซึ่งประกอบด้วยหลุมดำขนาดเล็กและดาวฤกษ์ที่ตั้งอยู่ห่างจากโลก 36,000 ปีแสง หยุดแผ่รังสีเอกซ์พลังงานสูงที่ส่องสว่างเจิดจ้าไปโดยไม่ทราบสาเหตุ สร้างปริศนาใหม่ให้วงการฟิสิกส์ดาราศาสตร์ได้ติดตามศึกษากันอีกครั้ง

ระบบดาวคู่ดังกล่าวเริ่มหรี่แสงลงเรื่อย ๆ ตั้งแต่ปี 2018 เป็นต้นมา ทั้งที่มันมีคุณสมบัติเป็น “ไมโครเควซาร์” (microquasar) หรือเควซาร์ขนาดเล็กที่ส่องสว่างเจิดจ้ามากที่สุดแห่งหนึ่งบนท้องฟ้ายามราตรี

มยุรา พละกฤษณัน นักศึกษาวิจัยระดับปริญญาเอกด้านดาราศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยมิชิแกนของสหรัฐฯ รายงานถึงการค้นพบดังกล่าวในบทความวิจัยที่เผยแพร่ทางคลังเอกสารวิชาการออนไลน์ arXiv.org โดยชี้ว่าแวดวงวิทยาศาสตร์ยังไม่เคยพบปรากฏการณ์ในลักษณะนี้มาก่อน และยังไม่อาจชี้ชัดได้ว่าเกิดจากสาเหตุใดกันแน่

ภาพถ่ายไมโครเควซาร์ GRS 1915+105 (กรอบซ้ายบน) ระบบดาวคู่แห่งนี้แผ่รังสีเอกซ์พลังงานสูงเป็นจังหวะคล้ายการเต้นของหัวใจมนุษย์ (กรอบขวาล่าง)
ภาพถ่ายไมโครเควซาร์ GRS 1915+105 (กรอบซ้ายบน) ระบบดาวคู่แห่งนี้แผ่รังสีเอกซ์พลังงานสูงเป็นจังหวะคล้ายการเต้นของหัวใจมนุษย์ (กรอบขวาล่าง)

ภายในไมโครเควซาร์ GRS 1905+105 มีหลุมดำดาวฤกษ์ (stellar black hole) หรือหลุมดำขนาดเล็กที่มีมวลราว 14 เท่าของดวงอาทิตย์ ซึ่งหลุมดำชนิดนี้เกิดจากการยุบตัวลงของดาวฤกษ์มวลมาก

เมื่อดาวฤกษ์ที่เป็นคู่ในระบบเดียวกันโคจรเฉียดเข้าใกล้ แรงโน้มถ่วงมหาศาลจากหลุมดำจะดูดกลืนก๊าซปริมาณมหาศาลจากดาวฤกษ์เข้าไป ทำให้อนุภาคก๊าซที่หมุนวนด้วยความเร็วสูงอยู่ตรงบริเวณจานพอกพูนมวลของหลุมดำเกิดเสียดสีกัน จนเกิดการแผ่รังสีเอกซ์พลังงานสูงในรูปของแสงสว่างเจิดจ้าออกมา

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ GRS 1905+105 มืดดับไปนั้น ผลวิเคราะห์ของพละกฤษณันกลับพบว่า ที่จริงแล้วมันยังคงมีแสงสว่างอยู่ แต่แสงนั้นส่องมาไม่ถึงหรือไม่อยู่ในทิศทางที่ผู้คนบนโลกจะสามารถสังเกตเห็นได้

“ในบางครั้งลมสุริยะจากดาวฤกษ์ขนาดใหญ่ที่เป็นคู่ของหลุมดำ อาจพัดแรงจนทำให้บดบังการแผ่รังสีเอกซ์จากจานพอกพูนมวลได้” พละกฤษณันกล่าว “แต่ในกรณีของ GRS 1905+105 ดาวฤกษ์ที่เป็นคู่โคจรวนรอบหลุมดำมีมวลไม่มากพอที่จะทำเช่นนั้น”

ผู้วิจัยจึงสันนิษฐานว่า กลุ่มก๊าซที่จานพอกพูนมวลอาจเกิดการก่อตัวเป็นโครงสร้างเรขาคณิตอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งช่วยกระเจิงแสงและบดบังแสงจากโดยรอบหลุมดำ จนทำให้ดูเหมือนว่าไมโครเควซาร์แห่งนี้มืดดับไปนั่นเอง

ผู้วิจัยยังระบุว่า ปรากฏการณ์ประหลาดครั้งนี้อาจเป็นต้นแบบให้กับการศึกษาหลุมดำมวลยิ่งยวดที่ใจกลางดาราจักรได้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์พบว่าหลุมดำทั้งสองประเภทมีกลไกการทำงานของ “เครื่องยนต์” ที่ให้กำเนิดและแผ่พลังงานออกมาเหมือนกัน

Leave a Reply