เอเลียนที่ติดต่อสื่อสารกับเราได้ อาจมีอย่างน้อย 36 อารยธรรมในทางช้างเผือก

สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาวจะมีจริงหรือไม่นั้น แม้จะยังเป็นปัญหาที่ถกเถียงกันอยู่ แต่นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่มองว่าเรื่องนี้มีความเป็นไปได้สูง จนพวกเขาพยายามคิดค้นวิธีคำนวณหาขอบเขตของความเป็นไปได้นั้นออกมา ซึ่งล่าสุดพบว่าอาจมีเอเลียนที่อารยธรรมอยู่ในระดับสูงพอจะติดต่อสื่อสารกับมนุษย์ได้อย่างน้อย 36 อารยธรรมในกาแล็กซีทางช้างเผือก

ทีมนักวิจัยด้านฟิสิกส์ดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยนอตติงแฮมของสหราชอาณาจักร ได้ตีพิมพ์ผลการคำนวณข้างต้นลงในวารสาร The Astrophysical Journal โดยระบุว่าได้ปรับปรุงสมการของเดรก (Drake’s equation) เสียใหม่ ซึ่งสมการนี้ใช้ปัจจัย 7 ประการในการคำนวณเพื่อประมาณค่าตัวเลขที่เป็นไปได้เกี่ยวกับอารยธรรมต่างดาว

มีการกำหนดขอบเขตของปัจจัยต่าง ๆ ซึ่งเป็นสมมติฐานที่ใช้ในการคำนวณเสียใหม่ โดยในครั้งนี้พบว่ามีโอกาสที่อารยธรรมขั้นสูงของเอเลียนจำนวน 4 – 211 กลุ่ม จะยังคงดำรงอยู่ในกาแล็กซีทางช้างเผือกในปัจจุบัน แต่ตัวเลข 36 นั้นมีความเป็นไปได้มากที่สุดในขอบเขตการคำนวณนี้

แผ่นบันทึกข้อมูลทองคำที่ส่งไปกับยานวอยาเจอร์ 1 และ 2 เพื่อสื่อสารกับอารยธรรมต่างดาว
แผ่นบันทึกข้อมูลทองคำที่ส่งไปกับยานวอยาเจอร์ 1 และ 2 เพื่อสื่อสารกับอารยธรรมต่างดาว

ศาสตราจารย์คริสโตเฟอร์ คอนเซลิซ ผู้ร่วมทีมวิจัยอธิบายว่า “สมมติฐานในการคำนวณของเรา ตั้งอยู่บนหลักการที่ว่าสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาสามารถจะเกิดขึ้นได้บนดาวทุกดวงที่มีสภาพคล้ายโลก และเมื่อเวลาผ่านไปราว 4.5 – 5.5 พันล้านปีหลังดาวเคราะห์นั้นก่อตัวขึ้นจนมีอายุเก่าแก่เท่ากับโลก วิวัฒนาการจะนำสิ่งมีชีวิตต่างดาวมาสู่อารยธรรมขั้นสูง จนสามารถติดต่อสื่อสารข้ามห้วงอวกาศได้เช่นเดียวกับมนุษย์หรือก้าวหน้ายิ่งกว่า”

ทีมผู้วิจัยเรียกหลักการคำนวณใหม่นี้ว่า “ขอบเขตโคเปอร์นิคันทางชีวดาราศาสตร์” (Astrobiological Copernican Limit) ซึ่งหลักการนี้อ้างอิงแนวคิดแบบโคเปอร์นิคัสที่มองว่า โลกไม่ได้เป็นดาวเคราะห์ดวงพิเศษหรือเป็นศูนย์กลางของจักรวาล แต่เป็นดาวเคราะห์แบบที่พบได้ทั่วไป และสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาแบบมนุษย์ก็น่าจะมีอยู่ในที่อื่น ๆ หลายแห่งด้วย

เนบิวลาแมงมุมหรือ IC 417 เรืองแสงเป็นสีเขียว ซึ่งการเรืองแสงนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้มองหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว
เนบิวลาแมงมุมหรือ IC 417 เรืองแสงเป็นสีเขียว ซึ่งการเรืองแสงนี้เป็นวิธีหนึ่งที่ใช้มองหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว

ผลคำนวณตามหลักการดังกล่าวยังชี้ว่า อารยธรรมมนุษย์จะต้องอยู่รอดจนมีอายุเก่าแก่ถึงอย่างน้อย 6,120 ปี จึงจะมีโอกาสสื่อสารโต้ตอบสองทางกับอารยธรรมต่างดาวได้ โดยสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อยู่ใกล้โลกที่สุด อาจอยู่ห่างออกไปถึงราว 17,000 ปีแสง

ตัวเลขดังกล่าวชี้ถึงสาเหตุที่ทำให้เรายังค้นหาอารยธรรมต่างดาวไม่พบ เนื่องจากสัญญาณวิทยุที่มนุษย์เคยส่งออกไปนั้นเป็นคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เดินทางได้ช้าและมีพลังไม่สูงนัก ตัวอย่างเช่นสัญญาณวิทยุที่มนุษย์ทำการกระจายเสียงครั้งแรกเมื่อปี 1895 หากส่งสัญญาณออกไปในห้วงอวกาศ ขณะนี้มันจะไปได้ไกลจากโลกเพียง 125 ปีแสงเท่านั้น ในขณะที่สิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาที่อยู่ใกล้เราที่สุด ห่างออกไปนับหมื่นปีแสง และอาจยังมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในระดับเดียวกันก็เป็นได้

Leave a Reply