คุณปู่วัย 89 ทำความฝันวัยหนุ่มเป็นจริง จบปริญญาเอกฟิสิกส์หลังเรียนมาสองทศวรรษ

แมนเฟรด สไตเนอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรีย
แมนเฟรด สไตเนอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรีย ได้รับปริญญาเอกใบที่ 3 ในชีวิต ก่อนฉลองวันเกิดครบ 90 ปี ในปลายเดือนนี้

แมนเฟรด สไตเนอร์ ชาวอเมริกันเชื้อสายออสเตรีย ได้ทำความฝันในวัยหนุ่มให้เป็นจริงได้ในวัย 89 ปี หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาฟิสิกส์จากมหาวิทยาลัยบราวน์ของสหรัฐฯ

ดร. สไตเนอร์ เริ่มลงทะเบียนเรียนวิชาฟิสิกส์ในระดับปริญญาตรี หลังเกษียณอายุจากงานประจำเมื่อ 20 ปีก่อน จากนั้นเขาสะสมหน่วยกิตเรื่อยมาจนสามารถเข้าเรียนในระดับปริญญาเอกได้ในที่สุด ซึ่งระหว่างที่กำลังเข้าชั้นเรียนและทำวิทยานิพนธ์อยู่นั้น เขาต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพร้ายแรงจนต้องหยุดเรียนไปหลายครั้ง

วุฒิการศึกษาที่ ดร. สไตเนอร์ได้รับล่าสุดนี้ นับเป็นปริญญาเอกใบที่สามในชีวิตของเขา โดยก่อนหน้านี้ ดร.สไตเนอร์ ประกอบอาชีพเป็นอาจารย์แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยบราวน์ หลังสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกสาขาเดียวกันจากมหาวิทยาลัยทัฟต์ของสหรัฐฯ นอกจากนี้ เขายังได้รับปริญญาดุษฎีบัณฑิตสาขาชีวเคมีจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแมสซาชูเซตส์หรือเอ็มไอที (MIT) อีกด้วย

สาเหตุที่ ดร.สไตเนอร์หลงใหลในวิชาฟิสิกส์ ทั้งที่เป็นอาจารย์แพทย์มานานกว่า 40 ปีนั้น เนื่องจากขณะใช้ชีวิตวัยเยาว์ที่กรุงเวียนนาของออสเตรียระหว่างช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง เขาได้รับแรงบันดาลใจอย่างสูงจากผลงานของนักฟิสิกส์ร่วมสมัยอย่างอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ และมักซ์ พลังก์ รวมทั้งสนใจควอนตัมฟิสิกส์ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่มาแรงในยุคนั้น จนเกิดความคิดว่าจะต้องพยายามเป็นนักฟิสิกส์กับเขาคนหนึ่งให้ได้

อย่างไรก็ตาม เป็นที่น่าเสียดายว่าครอบครัวของ ดร.สไตเนอร์ ได้โน้มน้าวให้เขาเปลี่ยนใจหันไปเรียนวิชาแพทย์แทน เพราะน่าจะเป็นอาชีพที่มั่นคง เหมาะสมกับยุคปั่นป่วนวุ่นวายหลังสงครามมากกว่า จุดเปลี่ยนนี้ทำให้เขาสำเร็จการศึกษาแพทยศาสตร์บัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเวียนนาในปี 1955 ก่อนจะอพยพย้ายถิ่นฐานมายังสหรัฐอเมริกา

ดร. สไตเนอร์ เปิดเผยถึงความมุ่งมั่นเพื่อการเป็นนักฟิสิกส์ที่เขาไม่เคยคิดจะล้มเลิกว่า “ตอนยังเรียนแพทย์อยู่ ผมมักแอบเข้าไปในชั้นเรียนของสถาบันฟิสิกส์ที่อยู่ติดกันเสมอ มันเหมือนเป็นความปรารถนาที่ไม่เคยถูกเติมเต็มให้สำเร็จและติดค้างอยู่ในใจเรื่อยมา แม้ผมจะชอบทำงานวิจัยทางการแพทย์ แต่ผมรักความแม่นยำเที่ยงตรงของวิชาฟิสิกส์มากกว่า”

“ผมคิดมาตลอดว่า เมื่อถึงวันที่ผมไปสุดเส้นทางวิชาชีพสายแพทย์แล้ว ผมไม่ต้องการจะใช้ชีวิตวัยเกษียณแบบนั่งเรื่อยเปื่อย ทำงานอดิเรกนิดหน่อยหรือเล่นกอล์ฟไปวัน ๆ ผมอยากจะทำตัวให้ขยันขันแข็งกว่านั้น”

วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของดร. สไตเนอร์ เป็นเรื่องของการใช้คณิตศาสตร์มาช่วยทำความเข้าใจควอนตัมฟิสิกส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องการแก้ไขข้อผิดพลาดของการตีความเชิงเรขาคณิต ซึ่งพบในกระบวนการที่ปฏิสัมพันธ์ระหว่างอนุภาคเฟอร์มิออนทำให้มันกลายเป็นอนุภาคโบซอน (Bosonization)

กระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่ทำให้อนุภาคเฟอร์มิออนกลายเป็นอนุภาคโบซอน
วิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของ ดร. สไตเนอร์ ศึกษากระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่ทำให้อนุภาคเฟอร์มิออนกลายเป็นอนุภาคโบซอน

ศาสตราจารย์แบรด มาร์สตัน อาจารย์ที่ปรึกษาของ ดร. สไตเนอร์บอกว่า “ตอนที่เขามาเรียนกับผม เขาเคยเขียนบทความวิจัยด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์มามากกว่าบทความวิจัยทางฟิสิกส์ของผมเสียอีก ประสบการณ์ทำให้เขามีวิธีคิดแบบนักวิทยาศาสตร์ในตัวอยู่แล้ว ทั้งที่คุณสมบัตินี้จะต้องใช้เวลาปลูกฝังขัดเกลานานมากกับพวกนักศึกษาวัยหนุ่มสาว สิ่งสำคัญที่สุดก็คือเขามีความพยายามและตั้งใจมาก”

ในส่วนของชีวิตครอบครัว ดร. สไตเนอร์ครองรักกับภรรยามานานกว่า 60 ปี จนในปัจจุบันมีบุตร 2 คน และมีหลานถึง 6 คนแล้ว เขาใกล้จะได้ฉลองวันคล้ายวันเกิดครบอายุ 90 ปี ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายนนี้

“ผมไม่คิดจะหาตำแหน่งงานประจำที่มีค่าตอบแทนหรอก ผมเลยวัยนั้นมาแล้ว นับแต่นี้ผมจะช่วยงานวิจัยทางฟิสิกส์ของศาสตราจารย์ที่คุ้นเคยกันแทน ผมจะเป็นนักฟิสิกส์ทฤษฎีที่ไม่ต้องมีห้องปฏิบัติการไว้ทำงาน เพียงแค่มีกระดาษ ดินสอ และคอมพิวเตอร์ก็พอ”

“สำหรับคนหนุ่มสาวทั้งหลาย ขอให้พวกคุณทำตามความฝัน ทำในสิ่งที่รักเถอะ เพราะเมื่อแก่ตัวไปแล้วจะได้ไม่ต้องมาเสียใจในภายหลัง” ดร. สไตเนอร์กล่าวทิ้งท้าย

Leave a Reply