พบสัญญาณ FRB คู่กับคลื่นวิทยุที่ส่งต่อเนื่อง เดินทางมาไกลจากห้วงอวกาศห่างโลก 3 พันล้านปีแสง

ภาพจำลองแม็กนีทาร์ที่ส่งคลื่นวิทยุ
ภาพจำลองแม็กนีทาร์ที่ส่งคลื่นวิทยุ (เส้นสีแดง) ออกมาอย่างสม่ำเสมอ

นักวิทยาศาสตร์เริ่มได้เบาะแสเกี่ยวกับต้นกำเนิดของ Fast Radio Burst (FRB) หรือการปะทุฉับพลันของสัญญาณวิทยุประหลาดจากต่างดาว หลังพบว่าสัญญาณ FRB ที่ตรวจจับได้ในปี 2016 มาจากแหล่งกำเนิดที่มีลักษณะและสภาพแวดล้อมคล้ายกันกับสัญญาณที่ตรวจจับได้ในปี 2019

รายงานวิจัยล่าสุดเกี่ยวกับสัญญาณ FRB 190520 ซึ่งนักดาราศาสตร์ค้นพบในปี 2019 ได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสาร Nature เมื่อวันที่ 8 มิ.ย. ที่ผ่านมา โดยทีมผู้ทำการศึกษาจากสหรัฐอเมริกาและจีนระบุว่า สัญญาณดังกล่าวเป็นชนิดที่หาพบได้ยากมาก เพราะมีการปะทุอย่างฉับพลันของสัญญาณวิทยุทรงพลังซ้ำกันหลายครั้ง แทนที่จะเป็นการปะทุเพียงครั้งเดียวเหมือนกับ FRB ส่วนใหญ่

ยิ่งไปกว่านั้น แหล่งกำเนิดของ FRB 190520 ซึ่งอยู่ที่ขอบนอกของกาแล็กซีแคระห่างจากโลก 3,000 ล้านปีแสง ยังตั้งอยู่ใกล้กับวัตถุที่แผ่คลื่นวิทยุอ่อน ๆ ออกมาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย นับว่ามีความคล้ายคลึงกับสัญญาณ FRB 121102 ที่ตรวจพบในปี 2016 อย่างน่าประหลาด เพราะตำแหน่งที่ตั้งอยู่คู่กับแหล่งกำเนิดคลื่นวิทยุที่แผ่ออกมาสม่ำเสมอเช่นกัน และมีการปะทุสัญญาณ FRB ซ้ำหลายครั้งเหมือนกัน

ดร. เคซีย์ ลอว์ หนึ่งในทีมผู้วิจัยจากสถาบันเทคโนโลยีแห่งแคลิฟอร์เนียหรือแคลเทค (Caltech) บอกว่าการค้นพบดังกล่าวเป็นเรื่องที่น่าประหลาดใจอย่างยิ่ง “การค้นพบสัญญาณ FRB หายากและมีแหล่งกำเนิดคล้ายกัน ช่วยยืนยันว่าตำแหน่งที่มาของ FRB ซึ่งอยู่ใกล้กับวัตถุอวกาศที่ส่งคลื่นวิทยุอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ ทั้งยังอาจจะเป็นเบาะแสช่วยให้เราสามารถพัฒนาแบบจำลอง ซึ่งใช้อธิบายสาเหตุที่ทำให้เกิด FRB ได้”

ภาพถ่ายแหล่งกำเนิดสัญญาณ FRB 190520
ภาพถ่ายแหล่งกำเนิดสัญญาณ FRB 190520 บันทึกโดยกล้องโทรทรรศน์วิทยุ VLA

อย่างไรก็ตาม ทีมผู้วิจัยยังคงไม่ทราบว่าเหตุใดต้นกำเนิด FRB จึงต้องตั้งอยู่ใกล้กับวัตถุแผ่คลื่นวิทยุในกาแล็กซีเดียวกัน ทั้งยังไม่ทราบด้วยว่าต้นกำเนิด FRB คืออะไรกันแน่ บางคนตั้งข้อสงสัยว่ามันอาจจะเป็นสัญญาณจากสิ่งมีชีวิตทรงภูมิปัญญาต่างดาว แต่ผู้ที่เชื่อว่าเป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ตามธรรมชาติ คาดว่าพัฒนาการของวัตถุอวกาศบางอย่างที่มีหลายขั้นตอน ทำให้เกิดการปะทุสัญญาณ FRB ในหลากหลายรูปแบบขึ้น

หนึ่งในข้อสันนิษฐานที่มีการเชื่อถือกันอย่างกว้างขวาง คาดว่าสัญญาณ FRB มาจากดาวนิวตรอนทรงพลังแม่เหล็กไฟฟ้าในระดับมหาศาลที่เรียกกันว่า “แม็กนีทาร์” (Magnetar) หรือไม่ก็อาจมาจากระบบดาวที่กำลังปั่นป่วน เนื่องจากมีหลุมดำอยู่ภายในนั้น

ดร. ลอว์ และ ดร. หลี ตี้ จากสถาบันบัณฑิตวิทยาศาสตร์จีน (CAS) สมาชิกทีมวิจัยอีกผู้หนึ่ง อธิบายว่าสัญญาณ FRB 190520 และ FRB 121120 น่าจะมาจากดาวนิวตรอนอายุน้อย โดยดาวนี้ยังคงถูกห่อหุ้มด้วยกลุ่มฝุ่นและก๊าซจากการระเบิดซูเปอร์โนวาที่ให้กำเนิดมันขึ้นมา

ข้อสันนิษฐานดังกล่าวสอดคล้องกับผลการศึกษาก่อนหน้านี้ ซึ่งชี้ว่าแหล่งกำเนิดพื้นฐานของคลื่นวิทยุในจักรวาลมีอยู่สองแบบด้วยกัน หากไม่เกิดจากหลุมดำมวลยิ่งยวดที่กำลังกลืนกินมวลสารและพลังงาน ก็มาจากความเคลื่อนไหวที่ก่อกำเนิดดวงดาวใหม่ ๆ อย่างเช่นการระเบิดซูเปอร์โนวานั่นเอง

Leave a Reply