ชมภาพใหม่จากกล้อง “เจมส์ เว็บบ์” คราวนี้เป็นปรากฏการณ์การรวมตัวกันของกาแล็กซีสองแห่ง
หลังจากห่างหายไปราว 1 เดือนกว่า ๆ ล่าสุดมีการเปิดเผยภาพใหม่จากกล้องโทรทรรศน์อวกาศ เจมส์ เว็บบ์ (JWST) อีกครั้ง โดยเป็นภาพซึ่งเปิดเผยเนื่องในวาระที่ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ กมลา แฮร์ริส และประธานาธิบดีฝรั่งเศส เอ็มมานูเอล มาครง เดินทางเยี่ยมชมการทำงานขององค์การอวกาศนาซา (NASA) เมื่อวานนี้ (30 พ.ย.)
โดยภาพใหม่ในครั้งนี้ เป็นภาพของ “กาแล็กซีรวมกัน” ซึ่งเกิดจากกาแล็กซีคู่หนึ่งที่มีชื่อว่า “II ZW 96” ในกลุ่มดาวเดลฟีนัส (Delphinus) ห่างจากโลกประมาณ 500 ล้านปีแสง

จากภาพเราจะสังเกตเห็นว่า รูปร่างของกาแล็กซีคู่นี้ลักษณะเหมือนกำลังหมุนวน ซึ่งเป็นขั้นตอนระหว่างการรวมตัวกัน หลังจากที่กาแล็กซีสองแห่งเกิดการชนกัน เป็นผลให้มันมีรูปร่างที่ดูสับสนวุ่นวาย
เรายังเห็นได้ด้วยว่า แกนกลางของกาแล็กซีทั้งสองเหมือนถูกเชื่อมกันด้วยสิ่งที่มีลักษณะเป็นเหมือนเส้นละอองแสง ซึ่งเป็นสัญญาณการก่อตัวของดาวฤกษ์ ส่วนบริเวณที่เป็นแขนของกาแล็กซีก็เกิดการบิดเบี้ยว จากแรงโน้มถ่วงมหาศาลที่เกิดจากการรวมกันของกาแล็กซี
การรวมตัวกันทำให้ II ZW 96 มีความสว่างเป็นพิเศษ โดยมีความส่องสว่างมากกว่าดวงอาทิตย์ของเรา 100 พันล้านเท่า
นี่เป็นอีกหนึ่งภาพการรวมตัวกันของกาแล็กซีที่นักดาราศาสตร์ให้ความสนใจ หลังก่อนหน้านี้มีการถ่ายภาพการชนกันระหว่าง กาแล็กซี IC 1623 A และกาแล็กซี IC 1623 B ในกลุ่มดาวซีตัส (Cetus) ซึ่งอยู่ห่างจากโลกของเราไป 270 ล้านปีแสง เพื่อศึกษาวิวัฒนาการและการก่อเกิดกาแล็กซี ไขความลับของจักรวาลอีกขั้นหนึ่ง
เรียบเรียงจาก NASA